“หมอลี่” ออกโรงเตือน “ระวังค่าโง่ ม.44!!” ขยายค่าใบฯ 900MHz งวดสุดท้าย

“หมอลี่” ออกโรงเตือน “ระวังค่าโง่ ม.44!!” ขยายค่าใบฯ 900MHz งวดสุดท้าย


นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เผยแพร่บทความเรื่อง “ระวังค่าโง่ ม.44!! การขยายค่างวด 900 เมกกะเฮิรตซ์ เป็นคนละกรณีกับการประมูล 5G” โดยในบทความดังกล่าว ระบุว่า ในระยะนี้มีข่าวอยู่เสมอว่า ไทยจะต้องเร่งประมูล 5G มิเช่นนั้นประเทศจะสูญเสียโอกาส และถ้าจะประมูล 5G ก็ต้องขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz เพราะเอกชนแบกภาระจนไม่มีเงินมาประมูล พร้อมกับเรียกร้องให้ใช้ ม.44 เพื่อขยายระยะเวลาการผ่อนชำระดังกล่าว”

ล่าสุดสื่อมวลชนได้รายงานข่าวแล้วว่า เอกชนที่จะได้ประโยชน์จากการขยายระยะเวลาผ่อนชำระบอกว่า การขยายระยะเวลาผ่อนชำระเป็นคนละกรณีกับการประมูล 5G หมายความว่า ต่อให้มีการใช้ ม.44 เอกชนก็คงไม่เข้าประมูล 5G อยู่ดี

ทั้งนี้ รายงานข่าวนี้สอดรับกับการนำเสนอบนเวที “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ที่เหล่าค่ายมือถือบอกว่า หากจะจัดประมูล 5G ต้องมี Spectrum Roadmap ที่ชัดเจนก่อน มีกฎกติกาที่เอื้อต่อ 5G มีการตั้งราคาคลื่นที่ไม่สูงเกินไป และที่สำคัญยังนำเสนอว่า มาตรฐาน 5G ระดับโลกของคณะทำงาน 3GPP ที่ออก Release 15 เน้นคุณสมบัติด้านความเร็วการรับส่งข้อมูล แต่มาตรฐาน Release 16 ที่จะออกในปี 2020 ถึงจะครอบคลุมคุณสมบัติด้านการรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมหาศาลและการลดความหน่วง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับบริการ IoT อย่างเช่น Smart city, Smart home, การจราจร หรือแม้แต่การเกษตร นอกจากเรื่องมาตรฐานแล้ว ตัวอุปกรณ์ที่ใช้งานก็ยังมีจำนวนน้อย แม้แต่ชิปเซ็ตก็ยังมีไม่มากจนกว่าจะถึงปี 2020

โดยหมายความว่า การจัดประมูล 5G เร็วเกินไป และมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เพราะแม้จัดสรรคลื่นได้ แต่บริการที่สำคัญยังจะไม่เกิดขึ้น เพราะมาตรฐานยังไม่สรุป อุปกรณ์และชิปเซ็ตยังไม่เพียงพอ ผู้ชนะประมูลคลื่นก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ตอบแทนได้อย่างเต็มที่ เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ค่ายมือถือยืนยันมาตลอดว่ายังไม่ควรเร่งจัดประมูล 5G ในปีนี้ ต่างจากคราวประมูล 3G และ 4G ที่อุปกรณ์ในท้องตลาดมีมากมายอยู่แล้ว ความต้องการใช้งานของผู้บริโภคมีมหาศาล เมื่อชนะประมูล สามารถสร้างรายได้ทันที แล้วทำไมยังมีการดึงดันเรียกร้องให้ใช้ ม.44 ขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz กันอยู่อีก ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกับ 5G อย่างชัดเจน!!??

ทั้งนี้ ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ทำกำไร ต่างจากธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เป็นขาลง แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกลับชำระค่าคลื่นตามกำหนด แม้จะไม่เห็นด้วยก็เพียงตั้งข้อสงวนสิทธิในการเรียกคืน ส่วนธุรกิจโทรคมนาคมที่ได้ประโยชน์จากการให้บริการต่อแม้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกว่า 2 ปี ปฏิเสธที่จะนำส่งเงินรายได้ในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐ จนหลายฝ่ายสงสัยว่า รายได้ในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ จะเป็นอีกหนึ่งค่าโง่ที่รัฐเสียรู้แก่เอกชนหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น พอชนะประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งรัฐตั้งราคาไม่สูงมาก แต่เอกชนแข่งกันเคาะราคาอย่างดุเดือดจนชนะ แต่ในที่สุดกลับเรียกร้องให้แก้ไขกติกาย้อนหลัง ให้ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนรายอื่น

โดย หลักการของค่าการใช้คลื่นนั้น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดสรรคลื่นโดยใช้วิธีการประมูลมาตลอด แม้แต่คลื่น 5G ล่าสุดก็ยังเดินหน้าประมูล นักวิชาการของ FCC ให้ความเห็นว่า ค่าคลื่นจากการประมูลเป็นต้นทุนจม ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ ซึ่งต่างจากต้นทุนดำเนินการอื่น ยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมเข้มข้น ราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าจ่ายจะถูกกำหนดจากการแข่งขันในตลาด ค่าคลื่นจึงเปรียบเสมือนรายได้เข้ารัฐที่ไม่กระทบภาระของประชาชน ไม่เหมือนภาษีต่างๆ ที่สุดท้ายประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ หากไม่มีการขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เอกชนก็ต้องระดมเงินผ่านแหล่งทุนต่างๆ มาชำระ เป็นต้นทุนของตัวเองที่ต้องแบกรับ แต่หากรัฐขยายระยะเวลาผ่อนชำระ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ เท่ากับเอกชนได้ประโยชน์เต็มๆ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ถูกผ่องถ่ายมาสู่ความรับผิดชอบของรัฐ เพราะหากรัฐต้องการใช้เงินก้อนที่ควรได้จากค่าคลื่น แต่กลับขยายระยะเวลาออกไป รัฐก็ต้องหาเงินจำนวนนั้นผ่านช่องทางต่างๆ แทน ซึ่งต้นทุนในการหาเงินเพิ่มของรัฐก็คือภาระของประชาชน ไม่ว่าจะในรูปของภาษีหรือภาระดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะที่รัฐต้องไปก่อมาชดเชยเงินที่หายไป หรือในกรณีที่รัฐหาเงินไม่ได้หรือไม่หาเงิน ก็จะตัดงบประมาณรายจ่ายลง ประชาชนแทนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ ก็จะไม่ได้รับอะไรเลย

ดังนั้น การใช้ ม.44 ขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz จึงไม่ต่างจากการผลักภาระของเอกชนที่ชนะการประมูล มาเป็นภาระของสาธารณะแทน แถมเป็นเอกชนที่มีกำไรจากธุรกิจ แต่มีประวัติเบี้ยวหนี้เงินรายได้จากมาตรการคุ้มครองฯ หากออก ม. 44 ในเรื่องนี้จริง จะดูประหนึ่งว่า รัฐเป็นเจ้าหนี้ที่วิจารณญาณบกพร่องหรือไม่

ทั้งนี้ ในส่วนข้ออ้างเรื่องการประมูลคลื่นที่ล่าช้ากับการสูญเสียรายได้ของประเทศหลายล้านล้านบาท และการโหมกระพือข่าวว่าการประมูล 5G จะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz นั้น หลายคนมองว่าเป็นนิทานที่ไม่น่าเชื่อ เพราะเมื่อปี 2556 ซึ่งสัญญาสัมปทานมือถือหลายค่ายจะสิ้นสุดลง และจะต้องจัดประมูลใหม่ให้ทันการณ์ เพื่อจะเป็นการก้าวสู่ยุค 4G แต่กลับไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีการเร่งรัดการจัดประมูล จนต้องออกประกาศมาตรการคุ้มครองฯ กรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แม้นักวิชาการจะให้ข้อมูลว่า การประมูล 4G ที่ล่าช้า ประเทศจะสูญเสียประโยชน์กว่า 1.6 แสนล้านบาท

โดยคำนวณตามข้อมูลของสถาบันวิชาการที่เคยสรุปไว้ในการประมูล 3G ในครั้งนั้น องค์กรที่ต้องรับผิดชอบกลับไม่มีการเรียกร้องให้เร่งผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4G แต่กลับฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการที่ให้ข้อมูลผลเสียจากความล่าช้าของการประมูล 4G โดยผู้แทนจาก 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้แถลงไม่เห็นด้วยกับการฟ้องคดีนี้

และต่อมายังมีขบวนการผลักดันให้มีคำสั่ง คสช. ที่ 94/2557 ลงวันที่ 17 ก.ค. 2557 จนสำเร็จ ให้ชะลอการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz ออกไป 1 ปี ทำให้การประมูลจริงเกิดขึ้นปลายปี 2558 ทั้งที่สัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มสิ้นสุดลงตั้งแต่ปลายปี 2556 ทำให้มีการใช้และขยายระยะเวลาตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการอีกกว่าสองปี

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุค 4G ที่แท้จริงล่าช้า และจนกระทั่งปัจจุบัน เอกชนก็ยังปฏิเสธที่จะนำเงินรายได้หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานส่งรัฐ เรื่องนี้มีความเสียหายต่อประเทศหรือไม่ และใครต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น …ยังคงเป็นคำถามที่อยู่ในความเงียบ โดยไม่มีคำตอบ แต่มาปีนี้กลับมีการกระพือข่าวว่า ถ้าไม่เร่งประมูล 5G ไทยจะสูญเสียรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท และใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้ คสช. ออกคำสั่งขยายเวลาการชำระค่าคลื่น 4G ออกไปอีก เพราะถ้าปล่อยให้เอกชนแบกภาระทางการเงินก้อนใหญ่ ก็จะไม่เข้าร่วมประมูล 5G ผนวกกับปัญหาผลประกอบการของธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้มีข้อเสนอให้เรียกคืนคลื่นทีวีดิจิทัลมาประมูล 5G และใช้เป็นเหตุโน้มน้าวให้ คสช. ขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz

อย่างไรก็ตามวันนี้ เอกชนให้ข้อมูลชัดเจนว่า การขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าประมูล 900 MHz ไม่เกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูล 5G แปลว่าข้ออ้างทั้งหมดเป็นยิ่งกว่านิทานหรือเปล่า

โดยการจะดูแลกิจการทีวีดิจิทัลเป็นคนละเรื่องกับการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz อย่าใช้ธุรกิจที่ประสบปัญหาเป็นข้ออ้างในการอุ้มธุรกิจที่มีกำไร เพราะจะไม่ต่างจากการอ้างว่าจะช่วยเหลือคนเจ็บป่วยแต่กลับไปเลี้ยงดูคนปกติ การแฝงเรื่องการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าประมูล 900 MHz เข้าไปกับการดูแลทีวีดิจิทัล ควรต้องน้อมนำพระราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2562 มาไตร่ตรองให้ดีว่า การทำเช่นนี้ถูกต้องเป็นธรรมไหม และมีผลประโยชน์ของแผ่นดินเป็นเป้าหมายสูงสุดหรือไม่

ทั้งนี้ หากคำตอบคือไม่ใช่ การใช้ ม.44 เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 MHz ก็จะเป็นเพียงการผลักภาระหนี้ของเอกชนมาเป็นหนี้ของประชาชน และเป็นการแก้กติกาการประมูลย้อนหลังอย่างไม่เป็นธรรม สุดท้ายก็จะเป็นเสมือน “ค่าโง่ที่รัฐต้องจ่ายแทนเอกชน” อีกครั้งหนึ่ง

Back to top button