จับตา TRUE-ADVANC-DTAC วิ่งรับคสช.เคาะเปรี้ยง! “ม.44” ขยายค่างวด 900MHz-ทีวีก็เฮ!

จับตา TRUE-ADVANC-DTAC วิ่งรับคสช.เคาะเปรี้ยง! “ม.44” ขยายค่างวด 900MHz-ทีวีก็เฮ!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งช่วยเหลือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ในเร็ว ๆ นี้

ภายหลังจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 รายดังกล่าวได้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 ออกไป โดยได้ชี้แจงถึงความจำเป็นว่าหากไม่ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป ผู้ประกอบการจะไม่มีเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ 5G

สำหรับงวดการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz แบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด โดย ADVANC ชนะประมูลจำนวน 2×10 MHz ที่ราคา 75,754 ล้านบาท เมื่อปี 2558 โดยงวดแรกชำระ 8,040 ล้านบาท เมื่อปี 2559 งวดที่ 2 ชำระ 4,020 ล้านบาท เมื่อปี 2561 งวดที่ 3 ชำระ 4,020 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือน ก.ค. 2562 ส่วนงวดที่ 4 ต้องชำระ 59,574 ล้านบาท ในปี 2563

ส่วน TRUE ชนะประมูลจำนวน 2×10 MHz ที่ราคา 76,298 ล้านบาท เมื่อปี 2558 ได้งวดแรกชำระ 8,040 ล้านบาท เมื่อปี 2559 งวดที่ 2 ชำระ 4,020 ล้านบาท เมื่อปี 2561 งวดที่ 3 ชำระ 4,020 ล้านบาท ได้ชำระไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ส่วนงวดที่ 4 ต้องชำระ 60,218 ล้านบาท ในปี 2563

ขณะที่ DTAC ชนะประมูลจำนวน 2×5 MHz ที่ราคา 38,064 ล้านบาท เมื่อปี 2561 ได้งวดแรกชำระ 4,020 ล้านบาท เมื่อปี 2561 งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท ในปี 2563 งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท ในปี 2564 ส่วนงวดที่ 4 ต้องชำระ 30,024 ล้านบาท ในปี 2565

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาล และ คสช.พิจารณา หลังจาก กสทช.ได้ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจไปอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผลดีอย่างแน่นอน แต่ผลเสียก็มีบ้าง ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีกับผลเสีย

ทั้งนี้ ตามแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ของกสทช. ได้แก่ คลื่นความถี่ 700 MHz คาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2562 จากนั้นจะประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz คู่กับ 26 GHz และ 28 GHz แบบมัลติแบนด์ ในช่วงปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 ส่วนปี 2563 มีแผนประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้งานของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดว่าจะเรียกคืนคลื่นความถี่จำนวนเท่าใด และจะมีการแบ่งรูปแบบใบอนุญาตออกเป็น ใบอนุญาตแบบให้บริการทั่วประเทศ (Nation Wide) และใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (Specific Area) เช่น ในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์

นายฐากร กล่าวต่อว่า กรณีการเสนอแนวคิดในการจัดเก็บรายได้จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศจากผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (OTT) จากต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ และทวิตเตอร์ ได้ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ไปแล้วว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นการจัดเก็บรายได้จาก OTT ไม่ได้เก็บจากประชาชนผู้ใช้บริการ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการนำเข้าข้อมูลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 40 เท่า ของการใช้งานในระบบ 3G และ 4G หากมีเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้น จึงได้เสนอแนวคิดนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีอยู่ 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกเสนอแนวคิดนี้ต่อที่ประชุมอาเซียนด้านโทรคมนาคมที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ส.ค. 2562 เพื่อหาข้อยุติ ซึ่งควรได้ข้อสรุปร่วมกันในระดับอาเซียน ส่วนอีกแนวทาง คือ เมื่อประชาชนไม่เข้าใจ โดยยังคิดว่ากสทช.ผลักภาระให้กับประชาชน ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย

“ที่ผ่านมากสทช.มีความพยายามลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเสนอแนวคิดนี้ ซึ่งหากที่ประชุมอาเซียนให้ความเห็นชอบ สำนักงาน กสทช.ถึงจะทำ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก่อนออกหลักเกณฑ์ แต่หากแนวทางนี้ หลาย ๆ ฝ่ายเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ สำนักงาน กสทช.ก็พร้อมน้อมรับ ทั้งนี้สิ่งที่คิด ผมคิดไปข้างหน้า เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชน” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายให้เพิ่มขีดความสามารถและความระมัดระวังในการดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคม เครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ ที่นำมาใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 12-16 เม.ย. 2562

โดยเห็นว่าสงกรานต์เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีสถิติการใช้โทรศัพท์กันมาก ประชาชนนิยมติดต่อสื่อสารและส่งข้อความอวยพรกันผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ทุกคนในครอบครัวมารวมกัน สำนักงาน กสทช.จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการในการติดต่อสื่อสารผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเพื่อป้องกันมิให้คุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หากได้รับอนุมัติขยายการจ่ายค่างวดสุดท้ายออกไป 4 งวด คาดว่า TRUE ได้ประโยชน์สูงสุด โดยช่วยประหยัดดอกเบี้ยช่วงปี 2563-2566 ลงเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท/ปี และสร้างราคาเป้าหมายส่วนเพิ่ม 0.30 บาท/หุ้น เป็น 8.10 บาท/หุ้น รองลงมาคือ DTAC คาดว่าช่วยประหยัดดอกเบี้ยช่วงปี 2565-2568 ลงเฉลี่ย 525 ล้านบาท/ปี และสร้างราคาเป้าหมายส่วนเพิ่ม 1.80 บาท/หุ้น เป็น 54.80 บาท/หุ้น

ส่วน ADVANC คาดว่าจะได้ประโยชน์น้อยสุดในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้แม้คาดว่าช่วยประหยัดดอกเบี้ยช่วงปี 2563-2566 ลงเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท/ปี แต่หากเทียบกับกำไรของ ADVANC ในแต่ละปีราว 30,000 ล้านบาท จะคิดเป็นเพียง 3% ดังนั้นคาดว่าสร้างราคาเป้าหมายส่วนเพิ่ม 3.20 บาท/หุ้น เป็น 208.2 บาท/หุ้น คงคำแนะนำ “NEUTRAL” โดยเลือก DTAC เป็น Top pick ของกลุ่ม ตามด้วย TRUE

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยเชิงบวกที่จะส่งผลให้ราคาหุ้นของค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย อย่าง TRUE, ADVANC และ DTAC ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเนื่องจากจะไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังส่งผลดีกับหุ้นในกลุ่มทีวีดิจิทัล เนื่องจากหากมีการประมูล 5G ทางกสทช.จะสามารถนำเงินบางส่วนไปทำการเยียวยาให้ผู้ประกอบการทีวีจิดิทัล ที่กสทช.จะเรียกคืนคลื่น 700MHz นำมาประมูลทำเป็น 5G โดยคาดว่าจะนำเงินบางส่วนเอามาชดเชยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล อาทิ BEC, RS, WORK, AMARIN, MONO, MCOT และ GRAMMY

อนึ่งก่อนหน้านี้ (3 ธ.ค.61) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลในระยะยาว ซึ่งทีวีดิจิทัล ยังมีวงเงินที่จะต้องชำระเหลืออีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นั้นทางกสทช.อยู่ระหว่างรอดูการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ที่จะมีขึ้นในปี 62 ว่าจะออกมาอย่างไร เนื่องด้วยอาจจะมีการพิจารณายกเว้นการชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในส่วนที่เหลือจะทำได้หรือไม่ เพื่อเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ

ขณะที่ค่า MUX ที่ปัจจุบันมีอยู่ 5 MUX รองรับการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 48 ช่อง ก็จะต้องปรับลดลงให้เหลือ 4 MUX โดยจะลดในส่วนของช่องกองทัพบก เพื่อให้เป็นไปตามจำนวนช่องทีวีดิทัลที่มีอยู่ปัจจุบัน 27 ช่อง อย่างไรก็ตามการเยียวยาทีวีดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบ จะนำเงินในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ไปเยียวยา ส่วนที่เหลือจะนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

Back to top button