ราชกิจจาฯประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯฉบับแก้ไข ขีดเดทไลน์ตลท.โอนเงินเข้ากองทุนใน 90 วัน
ราชกิจจาฯประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไข ขีดเดทไลน์ตลท.โอนเงินเข้ากองทุนภายใน 90 วัน กำหนดขั้นตอนตั้งบอร์ดกำกับตลาดทุน-ตลท.-กองทุน
สืบเนื่องจากกรณีที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา และมีผลใช้บังคับในวันที่ 17 เมษายน 2562 เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีบทบัญญัติบางประการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนและเทคโนโลยีทางการเงินมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
ประกอบกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ยังมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม และการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์สอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจ มีการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์มีความมั่นคง โปร่งใส
อีกทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของตลาดทุนและการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนเพื่อเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและบูรณาการงานด้านการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ โดยมีรายละเอียดฉบับเต็มดังนี้
ด้าน นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดทุนและเทคโนโลยีทางการเงินมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ยังมีส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วในวันที่ 16 เมษายน 2562 และมีผลใช้บังคับในวันที่ 17 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่นี้จะครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่
(1) เพิ่มความยืดหยุ่นในการการกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ อาทิ ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนของบริษัทหลักทรัพย์ไว้ในระดับกฎหมาย โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถใช้ดุลยพินิจในการกำหนดให้เหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของธุรกิจ และให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถกำหนดให้การประกอบกิจการในบางลักษณะไม่เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น การให้บริการต่อคนในวงจำกัด หรือการทำ regulatory sandbox เป็นต้น ซึ่งเป็นการรองรับการประกอบธุรกิจและการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี
(2) ด้านการกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุน จะมีการกำหนดหน้าที่ (fiduciary duty) ของผู้ประกอบธุรกิจหรือ บลจ. ไว้ในกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดย บลจ. จะต้องมีนโยบายป้องกันและติดตามดูแลการกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่เป็นธรรม หรือทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติในการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อเพิกถอนมติได้ หากพบว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
(3) ปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการกำหนดภารกิจ (regulatory objectives) และหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจการของตลาดหลักทรัพย์ และกำหนดให้กระบวนการออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และมีการรับฟังความคิดเห็นจาก บล. สมาชิก ผู้ลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะมีการปรับปรุงให้ประกอบด้วยบุคคลซึ่ง บล. สมาชิกเลือกตั้งจำนวนไม่เกิน 4 คน และอีก 6 คนมาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งจะคัดเลือกจากรายชื่อที่กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนเสนอมา เพื่อให้การดำเนินการคำนึงถึงประโยชน์ของตลาดทุนโดยรวม และมีผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง รวมถึงขยายวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจาก 2 ปี เป็น 3 ปีเพื่อให้การดำเนินการมีความต่อเนื่อง
(4) เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดทุน อาทิ ให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจประกาศกำหนดให้บุคคลที่มิใช่ บล. สมาชิกสามารถทำการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เปิดโอกาสให้ บล. สมาชิกสามารถซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ได้มากขึ้น และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โดยศูนย์รับฝากหลักทรัพย์สามารถให้บริการรับฝากหลักทรัพย์ด้วยระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) ได้สำหรับหลักทรัพย์ทุกประเภท และสามารถใช้ระบบไร้ใบหลักทรัพย์ได้ตลอดกระบวนการ
(5) จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (กองทุน CMDF) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และแยกบทบาทหน้าที่ในด้านการพัฒนาตลาดทุนออกจากการเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหลักทรัพย์ (exchange function) ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์หรือกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ และตลาดหลักทรัพย์จ าเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน คณะกรรมการกองทุนอาจพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ตลาดหลักทรัพย์โดยอาจกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรได้
ขณะที่ มาตรา ๔๐ ให้ตลาดหลักทรัพย์โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเป็นจำนวนหรือมูลค่า 5,700 ล้านบาทให้แก่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนตามมาตรา ๒๑๘/๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(6) เพิ่มประสิทธิภาพ ความชัดเจน และความโปร่งใสในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. อาทิ กำหนดให้สำนักงาน ก.ล.ต. จัดทำแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลตลาดทุนตามมาตรฐานสากล รวมทั้งให้สามารถเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ให้แก่หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีหรือสินค้าหรือตัวแปรของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้