สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 2 ก.ค.58
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 123.47 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 123.45 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1075 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1050 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,491.62 จุด ลดลง 12.93 จุด, 0.86% มูลค่าการซื้อขาย 47,256.19 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 4,359.10 ล้านบาท (SET+MAI)
– นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า มีอัตราการขยายตัวต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3-4 ต่อปี เท่านั้น โดยแนะนำว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวและปฎิบัติให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากลที่บังคับใช้กันอย่างเข้มข้น ทั้งการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย การทำประมงผิดกฎหมาย และกฎระเบียบองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
– ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุในหัวข้อ”มุมมองภาพรวมเศรษฐกิจ EIC Outlook สำหรับไตรมาส 3 ปี 2558″โดยยังคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยทั้งปี 58 ที่ระดับ 3% แม้ว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะชะลอตัว และการส่งออกหดตัวถึง 4.2% แต่ครึ่งปีหลังเห็นสัญญาณการฟื้นตัว จากแนวโน้มการใช้จ่ายของภาครัฐ และเงินบาทอ่อนค่าที่จะส่งผลดีต่อการส่งออก
– ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.58 อยู่ที่ 74.4 ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แล้ว และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี เป็นผลมาจากการส่งออกหดตัว ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยคาดว่าส่งออกทั้งปีติดลบ 1-2% และ GDP ทั้งปีอยู่ที่ระดับ 3.2%
– ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจในญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำเดือน มิ.ย.58 ภาคธุรกิจคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญจะปรับตัวขึ้น 1.4% ในหนึ่งปีถัดจากนี้ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของ BOJ
– ธนาคารกลางสวีเดนปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repurchase rate) ลงสู่ระดับ -0.35% ในวันนี้ จากเดิมที่ระดับ -0.25% เพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตหนี้กรีซ รวมทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
– เซอร์จอห์น คันลิฟ รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ระบุกรีซตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารของอังกฤษ รวมทั้งภาคธุรกิจได้ยุติและลดปริมาณการลงทุนในกรีซไปแล้ว ดังนั้นมาตรการดังกล่าวจึงสามารถปกป้องอังกฤษจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตหนี้กรีซ และไม่อาจมองข้ามความเป็นไปได้ที่กรีซจะพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน โดยได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไว้แล้ว
– นายยานิส วารูฟาคิส รมต.คลังของกรีซ ให้สัมภาษณ์หากผลการลงประชามติออกมาว่า ชาวกรีซโหวต “Yes” ตนเองจะลาออกจากตำแหน่ง ในทางตรงกันข้ามหากชาวกรีซโหวต “No” กรีซจะได้เจรจาเรื่องข้อตกลงครั้งใหม่
– นายปิแอร์ คาโลก พาโดอัน รัฐมนตรีกระทรวงคลังของอิตาลีเปิดเผยว่า อิตาลีจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤติหนี้กรีซ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ งบสาธารณะอันแข็งแกร่ง ขั้นตอนการปฏิรูปที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ ช่วยสนับสนุนอิตาลีให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ผันผวนที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากวิกฤติหนี้กรีซ