“TMB Analytics” มองเงินบาทปีนี้แข็งค่าต่อเนื่อง หุ้นส่งออก“อิเล็กฯ-อาหาร”เสี่ยงกำไรวูบ!
"TMB Analytics"มองเงินบาทปีนี้แข็งค่าต่อเนื่องแตะ 31.16 บ./ดอลฯ จับตาหุ้นส่งออก “อิเล็กฯ-อาหาร” กระอัก!
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB Analytics ประเมินเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของปีแตะระดับ 31.16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 4% จากสิ้นปีก่อน ปัจจุบันหนุนมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ การคาดการณ์ดุลการค้าที่ยังคงเป็นบวก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางหลักของโลก
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอาจผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่จะกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คิดเป็นเกือบ 40% ของดุลการชำระเงินทั้งหมด โดยคาดว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะสูงถึง 40.4 ล้านคน หรือขยายตัวกว่า 5.5% จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีหลังเหตุการณ์เรือฟีนิกซ์ล่มที่ภูเก็ตเมื่อกลางปีที่แล้ว และมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในเดือน ก.พ.62 จะต่ำลงเมื่อเทียบกับฐานที่สูงจากปีก่อน
อีกทั้ง ดุลการค้าที่คาดว่าจะยังคงเกินดุลต่อเนื่อง รวมมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ถึงแม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวลดลงจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกแต่การนำเข้าอาจชะลอมากกว่าจากปัจจัยการลงทุนในประเทศที่รอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าการนำเข้าจะชะลอลงจาก 12.5% ในปีก่อนเหลือเพียง 2% ในปีนี้
นอกจากนี้ TMB Analytics คาดว่า ถึงแม้ว่าไทยจะยังมีความเสี่ยงด้านการเมืองแต่ในช่วงที่เหลือของปีจะมีเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิ เนื่องจากธนาคารกลางของเศรษฐกิจหลักเริ่มปรับท่าทีต่อการดำเนินนโยบายการเงินจากเดิมที่จะเข้มงวดมากขึ้นกลายเป็นผ่อนคลายมากขึ้น จากสาเหตุความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป Brexit ที่ยังยืดเยื้อโดยเพิ่งขยายเวลาเส้นตายออกไปเป็นสิ้นเดือน ต.ค.62 และการเจรจาการค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น และสหรัฐฯกับยุโรปที่กำลังจะเริ่มขึ้น
ประกอบกับพื้นฐานทางด้านต่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะดุลการชำระเงินที่ยังคงเกินดุล และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ล่าสุดสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศอาจมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและอาจเผชิญความความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ผู้ประกอบการรวมถึงนักลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่เหมาะสม
ทั้งนี้จากประเด็นดังกล่าว “ผู้สื่อข่าว” มองว่าหากเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการหุ้นกลุ่มส่งออกที่มีรายได้เป็นดอลลาร์อย่างแน่นอน โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) CPF เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีรายได้เป็นเงินดอลลาร์มากกว่า 70% ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับรายได้ที่จะลดน้อยลง
ขณะที่ ผู้ส่งออกไทยจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่งเนื่องจากมีภาระด้านราคาจากเงินบาทที่แข็งค่าจนอาจต้องปรับราคาขายและทำให้ผู้สั่งซื้อหันไปสั่งสินค้าจากประเทศอื่นแทน