ครม.ไฟเขียวเซ็น MOC ไฮสปีดเทรน “ไทย-ลาว-จีน” เชื่อมเส้นทาง “หนองคาย-เวียงจันทน์”
ครม.ไฟเขียวเซ็น MOC ไฮสปีดเทรน "ไทย-ลาว-จีน" เชื่อมเส้นทาง "หนองคาย-เวียงจันทน์"
พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation หรือ MOC) ระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลลาว และรัฐบาลจีน ว่า ด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดจะเข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย.62 ที่ประเทศจีน ซึ่งในระหว่างการประชุมดังกล่าว จะมีพิธีการลงนามในบันทึกความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว
สำหรับร่างบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
- การเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และโครงการรถไฟระหว่างจีน-ลาว ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค
- ทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (Standard gauge) ของโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ จะใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน โดยจะมีการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) และจะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐาน และขนาดทาง 1 เมตร
- พิธีการศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณชายแดน จะตั้งอยู่ทั้งในบริเวณชายแดนของฝั่งไทยและฝั่งลาว โดยจะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรบริเวณชายแดน
- กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และโครงการรถไฟจีน-ลาวไม่ตรงกัน จึงมีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะพิจารณาให้มีการจัดตั้งสถานีท่าและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว มายังโครงข่ายรถไฟขนาดทาง 1 เมตรที่มีอยู่ของไทย ส่วนระยะที่ 2 โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะเชื่อมต่อกับสถานีดังกล่าวตามการดำเนินการในระยะที่ 1 เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว และโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน
- ไทยและลาวจะดำเนินการตามกระบวนการภายใน เพื่อขอความเห็นชอบในการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ของแต่ละฝ่ายโดยเร็ว และจะพยายามให้การก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ แล้วเสร็จในช่วงเวลาเดียวกับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยฝ่ายจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินโครงการเชื่อมต่อในงานที่เกี่ยวข้องตามที่ไทยและลาวเห็นชอบ และเป็นไปตามขั้นตอนภายในของประเทศตน
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคม เปิดเผยว่า ทั้ง 3 ฝ่ายเห็นร่วมกันว่า สะพานทางรถไฟใหม่เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมกับการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ในปี 2566 ซึ่งรถไฟความเร็วสูง ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานโยธาเอง โดยใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน ซึ่งจีนจะช่วยให้คำแนะนำ และล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
ขณะนี้จะเป็นขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด ใช้เวลาออกแบบประมาณ 6-8 เดือน วงเงิน 751 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลางปี 62 จำนวน 112 ล้านบาท และงบประจำปี 63 จำนวน 638 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลและเริ่มก่อสร้างเฟส 2 ได้ประมาณกลางปี 63 โดยตั้งเป้าแล้วเสร็จปี 66