สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 เม.ย.62
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 เม.ย.62
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) หลังจากบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงโบอิ้ง เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอ่อนแรงลง เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและไมโครซอฟท์จะเปิดเผยผลประกอบการ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,597.05 จุด ลดลง 59.34 จุด หรือ -0.22% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,927.25 จุด ลดลง 6.43 จุด หรือ -0.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,102.01 จุด ลดลง 18.81 จุด หรือ -0.23%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) โดยหุ้นกลุ่มบริษัทผลิตน้ำมันร่วงลงตามราคาน้ำมันดิบ และการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีที่ลดลงเกินคาด ส่งผลกดดันตลาดด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลบ 0.09% ปิดที่ 390.98 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,576.06 จุด ลดลง 15.62 จุด หรือ -0.28% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,471.75 จุด ลดลง 51.32 จุด หรือ -0.68% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,313.16 จุด เพิ่มขึ้น 77.65 จุด หรือ +0.63%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและเหมืองแร่ที่ร่วงลง ส่งผลกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,471.75 จุด ลดลง 51.32 จุด หรือ -0.68%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) หลังจากสต็อกน้ำมันดิบซึ่งรายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยข้อมูลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากข่าวสหรัฐประกาศยกเลิกคำสั่งผ่อนผันแก่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน และส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดในแดนลบเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 65.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ขยับขึ้นเพียง 6 เซนต์ หรือน้อยกว่า 0.1% ปิดที่ 74.57 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) เนื่องจากการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐช่วยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สกัดแรงบวกในตลาด และส่งผลให้สัญญาทองคำปิดตลาดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 6.20 ดอลลาร์ หรือ 0.49% ปิดที่ 1,279.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 12.5 เซนต์ หรือ 0.85% ปิดที่ 14.916 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 5.20 ดอลลาร์ หรือ 0.58% ปิดที่ 888.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 29.50 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 1,405.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) หลังจากIfo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีลดลงสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสแรกของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1142 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1214 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2905 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2937 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7005 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7092 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 112.34 เยน จากระดับ 111.83 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0216 ฟรังก์ จากระดับ 1.0202 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3492 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3441 ดอลลาร์แคนาดา