BGRIM พุ่ง 4% ทำ“ออลไทม์ไฮ” รับข่าวครม.ไฟเขียวPDPฉบับใหม่ เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า5.6หมื่นเมกฯ
BGRIM พุ่ง 4% ทำ “ออลไทม์ไฮ” รับข่าวครม.ไฟเขียวแผน PDP ฉบับใหม่ เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5.6 หมื่นเมกฯภายในปี 80 โดย ณ เวลา 14.35 น. อยู่ที่ระดับ 33.50 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 3.88% สูงสุดที่ระดับ 33.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 32.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 439.40 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ณ เวลา 14.35 น. อยู่ที่ระดับ 33.50 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 3.88% สูงสุดที่ระดับ 33.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 32.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 439.40 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้น BGRIM ปรับตัวขึ้นแรงทำจุดสูงสุดตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.60
สำหรับปัจจัยที่คาดว่าส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นแรง มาจากการรายงานข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผน PDP ฉบับใหม่ พร้อมกำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 5.6 หมื่น MW ภายในปี 80
โดยนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ซึ่งเป็นแผนหลักเพื่อให้มีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ มีกรอบระยะเวลาสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สำหรับจุดเด่นของแผน PDP2018 คือระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า ระบบจำหน่ายไฟฟ้า จะมีความมั่นคงรายพื้นที่ สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค โดยมีการพิจารณาไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับกรณีเหตุวิฤกตด้านพลังงาน รวมถึงมีความยืดหยุ่นต่อระบบไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำเพื่อลดภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าและไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว
รวมถึงเตรียมความพร้อมในระบบไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศและการผลิตไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และยังมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฟฟ้าทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้ จะมีการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะทำให้ในปี 2580 ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 77,211 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 40,000 เมกะวัตต์ แต่ในระหว่างแผนก็จะมีกำลังการผลิตที่จะถูกปลดออกจากระบบกว่า 20,000 เมกะวัตต์
โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะอยู่ที่ 65% ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ 53% ถ่านหินและลิกไนต์ 12% ขณะที่สัดส่วนที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จะอยู่ที่ 35% ประกอบด้วยพลังน้ำจากต่างประเทศ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% การอนุรักษ์พลังงาน 6%
สำหรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากพลังงานหมุนเวียนจะมีการดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับภาคประชาชน ปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี รวม 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
ขณะที่จะมีการทบทวนแผน PDP ใหม่ทุก ๆ 5 ปีหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ และให้มีการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค นอกจากนี้ยังจะมีการเชื่อมโยงระบบจำหน่ายเพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคตต่อไป