“ภากร” มั่นใจพ.ร.บ.หลักทรัพย์ใหม่ไม่กระทบแผนงาน ยันป้อนเงินก้นถุงเข้า CMDF ไร้ปัญหา!

“ภากร” มั่นใจพ.ร.บ.หลักทรัพย์ใหม่ไม่กระทบแผนงาน ยันป้อนเงินก้นถุงเข้า CMDF ไร้ปัญหา!


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ ตลท.ต้องหันมาพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างจุดแข็งให้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และยกระดับตลาดทุนไทยให้ทัดเทียมกับตลาดทุนในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุนไทยที่มีการเปิดกว้างให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเองต้องมีการปรับตัวตามไปด้วย

พ.ร.บ.ใหม่ที่ออกมาจะไม่มีผลต่อการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จะช่วยเสริมให้เราสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพและความเข้มข้นในการทำงานให้มากขึ้น พร้อมกับการสร้างจุดแข็งของเรา ถ้าเราไม่ปรับตัวก็คงอยู่รอดไม่ได้ เพราะตลาดแบบ Monopoly ไม่เหลืออีกแล้ว”นายภากร กล่าว

การบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ตลท.แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการของ ตลท.โดยจะมีกรรมการจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่มอีก 1 คน เป็น 5 คน ขณะที่กรรมการที่มาจากตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกจะลดลงเหลือ 5 คน

นายภากร มองว่า โครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการ ตลท.เป็นการเปิดโอกาสให้หลายองค์กรที่เข้ามาร่วมคัดเลือกตัวแทนกับ ก.ล.ต.มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีบุคคลหลากหลายประสบการณ์และความสามารถที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

ส่วนข้อกำหนดภายใต้กฎหมายให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) แม้ว่าจะกำหนดให้ ตลท.ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องและการใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนางานด้านต่าง ๆ ของ ตลท. เพราะยังมีทรัพย์สินและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งมาก

ปัจจุบัน ตลท.มีทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่า 1.8-2.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่จะต้องจ่ายทุนประเดิมให้กับกองทุน CMDF ภายในวันที่ 15 ก.ค.62 จำนวน 5.7 พันล้านบาท และมีค่ารายปีที่ต้องจ่ายให้กับกองทุน CMDF คิดเป็น 90% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ภาษี และเงินสำรองแล้ว ขณะเดียวกันหาก ตลท.มีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้เงินในโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตลาดทุน กองทุน CMDF สามารถให้เงินสนับสนุนแก่ ตลท. โดย ตลท.จะต้องส่งแผนงานและวัตถุประสงค์ให้กับคณะกรรมการของกองทุน CMDF พิจารณา

นายภากร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่จากโอกาสการทำธุรกิจใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในธุรกิจหลักทรัพย์มากขึ้นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันและลดการผูกขาดลง

โดยเฉพาะการเปิดให้บุคคลที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรง (Direct Asset) โดยไม่ต้องผ่านนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในรูปแบบเดิม ซึ่งในส่วนนี้มองว่าจะกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่จะต้องมีการปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยขณะนี้ ตลท.อยู่ระหว่างการศึกษาวิธีการคัดกรองคำสั่งซื้อขาย (Screening Order) ในรูปแบบ Direct Asset เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

ปัจจุบัน ตลท.ได้มีการพัฒนารูปแบบการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์แบบดั้งเดิม (Traditional Asset Market) และการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Market) ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างความหลากหลายในการให้บริการ และเพิ่มผลิตภัณฑ์ในการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยที่ในส่วนของ Digital Asset นั้น คาดว่าในช่วงไตรมาส 4/62 จะมีการนำร่องระบบบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย Digital Asset เข้ามาทดลองใช้ และในไตรมาส 1/63 จะนำมาเริ่มใช้จริง

Back to top button