ประมูล “ดิวตี้ฟรี” ส่อเดือด! BA ประกาศควง “ล้อตเต้” สู้ “คิงเพาเวอร์”

ประมูล "ดิวตี้ฟรี" สนามบินสุวรรณภูมิ และ 3 สนามบินภูมิภาคส่อเดือด! BA ประกาศควงพันธมิตร "ล้อตเต้" ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีรายใหญ่จากเกาหลีใต้ สู้ "คิงเพาเวอร์"


นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า ล้อตเต้ ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีรายใหญ่จากเกาหลีใต้ ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับ BA ในการประมูลสิทธิบริหารร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค คือ เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต โดยจะร่วมทุนฝ่ายละ 50%

โดยในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) BA จะแจ้งชื่อล้อตเต้เป็นพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อนที่จะยื่นซองประมูลในวันที่ 22 พ.ค.และทราบผลผู้ชนะในวันที่ 30 พ.ค. นี้. ส่วนท่าอากาศยานภูมิภาคจะยื่นซองประมูลในวันที่ 3 มิ.ย. และประกาศผลในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้บริษัทได้เจรจากับกลุ่มทุนหลายรายทั้งจากยุโรป อาทิ เลอกาแดงจากฝรั่งเศส และบริษัทจากไอร์แลนด์ เป็นต้น แต่และสุดท้ายบริษัทเลือกล้อตเต้เป็นพันธมิตรเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี เพราะเป็นบริษัทในเอเชียเหมือนกับ BA จึงเชื่อว่าจะมีแนวทางและวิธีดำเนินการไปในทางเดียวกัน และมีความเข้าใจผู้โดยสารในเอเชียมากกว่าเจ้าอื่น รวมทั้งมีซัพพลายเออร์ต่อเนื่อง ที่สำคัญมีผลงานร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินอินชอน

โดย BA มองว่า ล้อตเต้เป็น Global Brand และเป็นผู้จัดหาติดต่อซัพพลายเออร์ หากความร่วมมือเป็นไปไปได้ด้วยดีก็มีโอกาสที่จะร่วมมือทางธุรกิจในโครงการอื่นๆ ต่อไป

“เลือก ล้อตดต้า เพราะเขาอยู่ในโซนเดียวกับเรา แนวทาง วิธีการน่าจะไปกันได้ ได้ล้อตเต้ ยกให้เป็นดีลที่ดี”นายพุฒิพงศ์ กล่าว

สำหรับส่วน Pick up Couter คงต้องรอกติกาในปี 63 ที่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะประกาศออกมา ซึ่งบริษัทยินดีพูดคุย และที่ผ่านมาล้อตเต้ก็รอเรื่องนี้มานานแล้ว

ทั้งนี้กลุ่ม BA และล้อตเต้มั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในการประมูลครั้งนี้อย่างเต็มที่แม้จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ แต่จะทำให้ได้ดีที่สุด เมื่อลงสนามแล้วต้องไปต่อให้ได้ ท่ามกลางคู่แข่งที่มีการแข่งขันรุนแรงมาก ทั้งกลุ่มคิงเพาเวอร์, กลุ่มเซ็นทรัลที่จับมือกับ DFS จากสิงคโปร์ และกลุ่ม MINT ที่จับมือกับกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในสนามบิน

โดยปัจจุบัน ธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันสูงมาก เพราะรูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไป ดังนั้น ธุรกิจสายการบินไม่ใช่ตัวทำกำไรมากเหมือนแต่ก่อน โดย 3-4 ปีที่ผ่านมากำไรจากธุรกิจสายการบินปรับตัวลดลง ดังนั้น BA จึงเห็นว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีน่าจะเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นดีกว่า ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธุรกิจสายการบินยังคงเป็นรายได้หลักของ BA โดยหรือคิดเป็น 60% ของรายได้รวม นอกนั้นจะมาจากบริการครัวการบิน บริการภาคพื้นดิน คลังสินค้า และการบริหารสนามบิน อาทิ สนามบินสมุย และสนามบินสุโขทัย

Back to top button