“ตู่” นั่งหัวโต๊ะ EEC รับทราบผลคัดเลือก “ซีพี” ลุย “ไฮสปีดเทรน” จับตา! ชงครม. 28 พ.ค. นี้
“ตู่” นั่งหัวโต๊ะ EEC รับทราบผลคัดเลือก “ซีพี” ลุย “ไฮสปีดเทรน” จับตา! ชงครม. 28 พ.ค. นี้
วันนี้(13 พ.ค.62) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยเป็นรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ที่ภาครัฐลงทุนน้อยที่สุด เพื่อภาครัฐจะได้ประหยัดงบประมาณ และสามารถนำงบประมาณไปใช้พัฒนาคนและบริการขั้นพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อย และประชาชนในด้านอื่น ๆ
ทั้งนี้ จากการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เพราะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา และบรรลุข้อตกลงในการเจรจา
ที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้คัดเลือกดังกล่าว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ กพอ. กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ที่ประชุม กพอ.วันนี้ได้รับทราบผลการคัดเลือก เจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมลงทุนในโครงการกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในวันที่ 28 พ.ค. และคาดว่าจะลงนามในวันที่ 15 มิ.ย.นี้
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การจะลงนามกันได้ก็ต่อเมื่อขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จสิ้นเสียก่อน ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ รฟท.คาดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะพื้นที่สัดส่วนกว่า 90% เป็นพื้นที่ของ รฟท. โดยพื้นที่แรกที่ส่งมอบเป็นที่ดินบริเวณมักกะสัน ประมาณ 100 ไร่ นอกจากนี้จะจัดตั้งหน่วยธุรกิจดูแลโครงการนี้ที่มีระยะเวลา 50 ปี
พร้อมกันนั้น บอร์ด EEC ยังได้รับทราบการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุน ใน EEC ซึ่งพบว่าขณะนี้มีความต้องการในอุตสาหกรรมดิจิทัล กว่า 100,000 คน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สานต่อโครงการพร้อมจัดทำการพัฒนาและผลิตกำลังคนดิจิทัล สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ และปริมาณตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายในปี 2566 โดยเป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษาจบใหม่ด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 60,000 คน และนักศึกษาสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนหรือเรียนเพิ่มเติม ในสาขาวิชาด้านดิจิทัล จำนวน 120,000 คน
สำหรับแนวทางการผลักดันให้ได้บุคลากรตามเป้าหมายกำลังคนด้านดิจิทัล ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาในสาขาวิชาด้านดิจิทัล สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการฝึกงาน เพื่อให้มีประสบการณ์ตรงกับภาคอุตสาหกรรม
กลุ่มนักศึกษาในสาขาอื่นที่ต้องการ Re-skill สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรองความรู้ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
กลุ่มบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ที่ต้องการย้ายสายงาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือค่าสอบประกาศนียบัตรรับรองความรู้ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ใน EEC ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน EEC (Thailand Genome Sequencing Center) จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็นให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ให้สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงในระบบประกันสุขภาพ โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่แม่นยำ (2) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub (3) ด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ
ทั้งนี้ บอร์ด EEC ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน พื้นที่ EEC (Thailand Genome Sequencing Center) และให้ สกพอ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป