เปิดโผ 30 หุ้น SET ผลงานไตรมาส 1/62 พลิกขาดทุน! STA นำทีมอ่วมสุด
เปิดโผ 30 หุ้น SET ผลงานไตรมาส 1/62 พลิกขาดทุน! STA นำทีมอ่วมสุด
จากการสำรวจของทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ครั้งก่อนได้นำเสนอบริษัทจดทะเบียนกลุ่ม SET ที่มีกำไรไตรมาส1/62 โดดเด่น และมีกำไรไรลดลงไปแล้ว สำหรับครั้งนี้จะนำเสนอกลุ่มหุ้นที่มีผลประกอบการพลิกขาดทุนอีกกลุ่ม
โดยหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีจำนวน 30 หลักทรัพย์ซึ่งประกอบด้วย STA,MONO,CGD,PK,PSL,PRINC,GRAND,INOX,VPO,THCOM,TYCN,OGC,CHARAN,TIC,NWR,CSP,TGPRO,PMTA, AMATAV,UPOIC,TPBI,PRG,CNS,CM,FNS, SLP,UOBKH,WPH,GBX,FN
อย่างไรก็ตามครั้งนี้จะขอเลือกนำเสนอข้อมูลประกอบหุ้นที่พลิกขาดทุนมากสุดเรียงไปหาน้อยสุด โดย 5 อันดับแรกของตารางมีดังนี้
อันดับ 1 บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ไตรมาส 1/62 พลิกขาดทุนสุทธิ 627.68 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 831.82 ล้านบาท เนื่องจากผลขาดทุนจากธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและผลประกอบการที่อ่อนตัวลงของธุรกิจถุงมือยาง อีกทั้งกำไรขั้นต้นและกำไรอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ปรับลดกำไรปี 2019 ลง 6% อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท (-32%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) เพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยปรับลดอัตรากำไรขั้นต้นมาอยู่ที่ 7.85% จากเดิมที่ 8% เนื่องจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 25-30% ในช่วงต้นปี
ทั้งนี้ยังมองว่า อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 2/62 จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากราคายางมีความผันผวนน้อยลงกว่าไตรมาส1/62 ขณะที่ใน ครึ่งหลังปี 62 คาดว่าการเก็งกำไรจะเริ่มน้อยลง แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าและการจำกัดโควต้าส่งออก ขณะที่ธุรกิจถุงมือยางยังมีความต้องการที่สูงในตลาดโลก แต่ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียง 20% ของยอดขาย ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยแรงกดดันจากธุรกิจยางธรรมชาติ (Natural rubber) ได้
ราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี 2018-ต้นปี 2019 จากความคาดหวังในผลประกอบการปี 2019 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นต้องปรับตัวลงมาเนื่องจากผลประกอบการที่กดดันในไตรมาส 4/61-ไตรมาส 1/62 เพื่อลดความเสี่ยง ทั้งนี้ยังคงคำแนะนำ “ถือ” STA ราคาเป้าหมายที่ 10.90 บาท (อิง PER ปี 2019 ที่ 12x เทียบเท่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 9 ปี) ปรับลดลงจากเดิมที่ 11.90 บาท จากความผันผวนของอัตรากำไรที่กล่าวมาข้างต้น
อันดับ 2 บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ไตรมาส 1/62 พลิกขาดทุนสุทธิ 112.36 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 19.47 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากการให้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง
ด้านบล.เคจีไอ MONO แนะนำ “ถือ” เป้าพื้นฐาน 1.7 บาท ฝ่ายวิจัยฯปรับลดประมาณการฯปี 2562 – 63 ลง สะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในไตรมาส 1/62 โดยคาดปีนี้จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน (ไม่รวมรายการพิเศษ) ราว 211 ล้านบาท (เดิมคาดขาดทุน 35 ล้านบาท) อย่างไรก็ดีคาด MONO จะมีกำไรพิเศษผลจากมาตรการเยียวยาธุรกิจทีวีดิจิตอลราว 262 ล้านบาท
อันดับ 3 บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD ไตรมาส 1/62 พลิกขาดทุนสุทธิ 108.32 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 24.05 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้รวมลดลง 158.24 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 56.31 จากจำนวน 281.02 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขายอาคารชุด โครงการอิลีเม้นท์ ศรีนครินทร์ลดลงอย่างมากเนื่องจากได้ปิดโครงการไปในปี 2561
อย่างไรก็ตาม CGD จ่อบุ๊กรายได้โอนคอนโด “โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพ” ในปีนี้กว่า 8 พันล้านบาท พร้อมรับรู้รายได้จากการเปิดบริการโรงแรมหรู 2 แห่ง “คาเพลลา กรุงเทพ-โฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพ” คาดเปิดปลายไตรมาส3/62 หรือต้นไตรมาส1/62 หนุนผลงานปีนี้จ่อพลิกมีกำไร
อันดับ 4 บริษัท พัฒน์กล จำกัด (มหาชน) หรือ PK ไตรมาส 1/62 พลิกขาดทุนสุทธิ 87.39 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2.71 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าว พลิกขาดทุน เนื่องจากรายได้จากการขายและบริการของบริษัทในไตรมาส 1/62 มียอดรวม 796 ล้านบาท ลดลง 250 ล้านบาท คิดเป็น 24% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 ซึ่งสาเหตุหลักๆมาจากลูกค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมมีการชะลอการลงทุน
อีกทั้งกลุ่มบริษัทมีกำไรขั้นต้นรวม 151 ล้านบาท ในไตรมาส 1/62 ซึ่งลดลง 97 ล้านบาท คิดเป็น 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนยอดขายของบริษัทในปี 2562 ที่ลดลง และการรับรู้รายได้ของงานโครงการบางงานที่มีอัตรากำไรขั้นต้นน้อย
พร้อมทั้ง โดยรายได้อื่น ได้แก่ รายได้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ของบริษัทฯ เช่น กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยรับ และหนี้สูญได้รับเงินภายหลัง เป็นต้น ในไตรมาส 1/62 กลุ่มบริษัทมีรายได้อื่นลดลงจำนวน 2 ล้านบาท คิดเป็น 18% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ไตรมาส 1/62 กลุ่มบริษัทมีต้นทุนในการจัดจำหน่ายจำนวน 97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 ล้านบาท คิดเป็น 4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการงานแสดงสินค้าและการตลาด ค่าเดินทาง
รวมถึง กลุ่มบริษัทมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท คิดเป็น 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งกลุ่มบริษัทได้มีการทำสัญญาเงินกู้ระยะยาวกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง สำหรับการโรงงานของบริษัทย่อย และเริ่มมีการจ่ายชำระในปีปัจจุบัน
อันดับ 5 บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL ไตรมาส 1/62 พลิกขาดทุนสุทธิ 84.14 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 107.67 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการเดินเรือต่อวันต่อลำเรือเฉลี่ยอยู่ที่ 4,816 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าประมาณการที่บริษัทฯ ตั้งไว้ที่ 4,750 เหรียญสหรัฐ และสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการเดินเรือต่อวันต่อลำเรือเฉลี่ยของไตรมาส 1/61
ด้านนายคาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม กรรมการผู้จัดการ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) กล่าวว่า ภาพรวมค่าระวางเรือในช่วงไตรมาส 2/62 ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 9,273 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ แม้ว่าจะมีการปรับตัวดีจากช่วงโลว์ซีซั่นในช่วงไตรมาส 1/62
อย่างไรก็ตามยังคงได้รับแรงกดดันจากผลกระทบจาก Sentiment ด้านลบจากสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆชะลอการลงทุนไปกดดันให้ค่าระวางเรือยังขึ้นได้ไม่มากจากช่วงโลว์ซีซั่น แต่หากมองถึงภาพรวมแล้วจะเห็นว่าเป็นเพียงผลกระทบด้าน Sentiment เท่านั้น เนื่องจากในช่วงที่มาจะเห็นได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ โดยเฉพาะประเทศจีนที่เศรษฐกิจยังมีการเติบโตได้ไม่ได้มีการชะลอตัวเหมือนที่หลายๆฝ่ายกังวล
ทั้งนี้บริษัทฯยังคงเป้าหมายที่จะรักษาอัตราค่าระวางเรือให้สูงกว่าอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาบริษัทยังคงสามารถทำได้โดยตลอด โดยการบริหารจัดการกองเรือที่ดี และเน้นความต่อเนื่องของการเดินเรือด้วย
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน