สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 มิ.ย. 2562
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 มิ.ย. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวเลขภาคการผลิตที่อ่อนแอของสหรัฐ และผลกระทบของสงครามการค้า ขณะที่ดัชนี Nasdaq เข้าสู่ภาวะพักฐาน หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากรายงานข่าวที่ว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนบริษัทอัลฟาเบท เฟซบุ๊ก แอปเปิล และอเมซอน ในข้อหาผูกขาดตลาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,819.78 จุด เพิ่มขึ้น 4.74 จุด หรือ +0.02% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,744.45 จุด ลดลง 7.61 จุด หรือ -0.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,333.02 จุด ลดลง 120.13 จุด หรือ -1.61%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) โดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และน้ำมันที่ดีดตัวขึ้น ได้ช่วยหนุนตลาด ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,184.80 จุด เพิ่มขึ้น 23.09 จุด หรือ +0.32%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) โดยหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ช่วยหนุนตลาดดีดตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นกลุ่มปลอดภัยท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐและจีน
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.39% ปิดที่ 370.49 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,241.46 จุด เพิ่มขึ้น 33.84 จุด หรือ +0.65% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,792.81 จุด เพิ่มขึ้น 65.97 จุด หรือ +0.56% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,184.80 จุด เพิ่มขึ้น 23.09 จุด หรือ +0.32%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ซึ่งรวมถึงเม็กซิโกนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังไดัรับแรงกดดันจากข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนแอของสหรัฐ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 25 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 53.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 71 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 61.28 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 1% เมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 16.80 ดอลลาร์ หรือ 1.28% ปิดที่ 1,327.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 17.3 เซนต์ หรือ 1.19% ปิดที่ 14.74 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 26.70 ดอลลาร์ หรือ 3.36% ปิดที่ 820.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 16.50 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 1,315 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) โดยถูกกดดันหลังจากนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอตัวลง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.65% สู่ระดับ 97.1395
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.03 เยน จากระดับ 108.43 เยน ขณะที่ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9923 ฟรังก์ จากระดับ 1.0007 ฟรังก์ และ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3437 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3523 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1257 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1169 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ 1.2665 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2631 ดอลลาร์ และ ดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6977 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6938 ดอลลาร์สหรัฐ