สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 มิ.ย. 2562
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 มิ.ย. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในไม่ช้า หลังจากตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐมีการขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี รวมทั้งการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้ออกมาสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,539.57 จุด เพิ่มขึ้น 207.39 จุด หรือ +0.82% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,826.15 จุด เพิ่มขึ้น 22.88 จุด หรือ +0.82% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,575.48 จุด เพิ่มขึ้น 48.36 จุด หรือ +0.64%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในวันพุธว่า เฟดอาจเข้าแทรกแซงหากความตึงเครียดด้านการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในไม่ช้า และนักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะส่งสัญญาณเช่นเดียวกันในการประชุมนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีนี้
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.38% ปิดที่ 374.08 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,292.00 จุด เพิ่มขึ้น 23.74 จุด หรือ +0.45% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,980.81 จุด เพิ่มขึ้น 9.64 จุด หรือ +0.08% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,220.22 จุด เพิ่มขึ้น 5.93 จุด หรือ +0.08%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นแรงหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,220.22 จุด เพิ่มขึ้น 5.93 จุด หรือ +0.08%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า ข้อพิพาทการค้าอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และฉุดความต้องการใช้น้ำมันให้ลดน้อยลงด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 1.80 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 51.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.34 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 60.63 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.) ทำสถิติปิดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยรายงานล่าสุดระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 4.90 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 1,333.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.2 เซนต์ หรือ 0.15% ปิดที่ 14.791 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 16.30 ดอลลาร์ หรือ 1.99% ปิดที่ 802.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 13.50 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 1,327.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.) หลังจากรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือ “Beige Book” ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.41 เยน จากระดับ 108.05 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9942 ฟรังก์ จากระดับ 0.9907 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3423 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3395 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1227 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1259 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2693 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2704 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6965 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6997 ดอลลาร์สหรัฐ