ก.ล.ต.เล็งปรับเกณฑ์ IPO หนุน SME ระดมทุน-ตั้งกองทุนคุ้มครองนลท.ไทยครอบคลุมทุกสินทรัพย์

ก.ล.ต.เล็งปรับเกณฑ์ IPO หนุน SME ระดมทุน-ตั้งกองทุนคุ้มครองนลท.ไทยครอบคลุมทุกสินทรัพย์


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงข่าวเปิดบ้าน ก.ล.ต. และนโยบายในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยอย่างเป็นทางการภายหลังเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แนวทางกำหนดนโยบายและการทำงานของ ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี , แผนพัฒนาตลาดทุนปี 2560-2564 , สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฉบับที่ 6 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 17 เม.ย.62 ,การพัฒนาในทุกมิติรองรับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ,พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน,สานงานต่อเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

สำหรับนโยบายสำคัญที่จะเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย นโยบายให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาปรับเกณฑ์หุ้นสามัญเสนอขายแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ให้เหมาะสมกับธุรกิจ SME เนื่องจากเกณฑ์เดิมไม่เอื้อให้ธุรกิจ SME เข้าระดมทุน โดยภายในเดือน ก.ค.นี้ทาง ก.ล.ต. เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) อย่างเป็นทางการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในระยะถัดไปจะร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้ SME ที่มีคุณภาพเข้ามาระดมทุนในตลาดทุน และภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก.ล.ต. เตรียมจัดโครงการคาราวาน เพื่อเข้าไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะนำร่องในจังหวัดขอนแก่น

“ปัจจุบันเล็งเห็นถึงความสำคัญ SME ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย สร้างการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน ดังนั้น ถ้าผลักดัน SME มีเงินทุนขยายธุรกิจ เชื่อว่าจะยกระดับเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้นในอนาคต” นางสาวรื่นวดี กล่าว

นอกจากนี้ ในการจัดกองคาราวานนั้น ก.ล.ต.จะดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนกับประชาชน เบื้องต้นจะขอความร่วมกับพันธมิตรที่มีเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนลงทุนอย่างถูกต้องไม่โดนหลอก เหมือนกรณีแชร์ลูกโซ่ ขณะเดียวกันยังต่อยอดผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีคุณภาพไว้ใช้เป็นเงินออมในยามเกษียณอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้แม้ว่า ก.ล.ต. จะมีบทบาทในมุมของการกำกับดูแล แต่ยังคงให้ความสำคัญเรื่องคุ้มครองผู้ลงทุน เนื่องจากโลกการลงทุนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ที่ผ่านมาได้ออกกฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อมากำกับดูแลโดยตรง ปัจจุบัน ก.ล.ต. กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Investor Protection Fund ในลักษณะกองทุนเพื่อเยียวยาและคุ้มครองผู้ลงทุนครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากลงทุนในทุกๆสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่ามีความชัดเจนใน 3-6 เดือนข้างหน้า

รวมทั้ง อยู่ระหว่างประสานงานกับสมาคมคุ้มครองผู้ลงทุนไทย เพื่อขอความร่วมมือเข้ามาเป็นแกนหลักในการดูแลเรื่องนี้ และจะขอความร่วมมือกับทางสภาทนายความเข้ามาดูแลเรื่องของข้อกฎหมายในการดำเนินคดีต่อไปด้วย ส่วนผู้ลงทุนที่ต้องการร้องเรียนสามารถโทรสายด่วน 1207 เพื่อยื่นเสนอเรื่องเข้ามาที่ ก.ล.ต.ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนด้านความร่วมมือและส่งเสริมงานด้านต่างประเทศ คาดว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทีมคณะผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต.ไทย จะเดินสายเข้าพบกับคณะผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต. ประเทศกัมพูชา ,เมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ด้านตลาดทุนร่วมกัน เช่น การจดทะเบียนบริษัท 2 ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ออกใบแทนหลักทรัพย์โดยมีหุ้นของบริษัทเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง (ดีอาร์) เป็นต้น

ขณะที่ เลขาฯ ก.ล.ต. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้เข้าหารือกับ ก.ล.ต.ประเทศฮ่องกง มีแนวทางร่วมกันคือศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ เป็นแผนเดิมตั้งแต่ปี 2547 แต่กระบวนการต่างๆจะเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุนของไทยยกระดับในเวทีโลกมากขึ้น

“ภารกิจสำคัญของ ก.ล.ต. แม้ว่าเราจะมีหน้าที่บังคับใช่กฎหมายให้มีประสิทธิภาพแล้ว แต่การพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน เปลี่ยนเข้าสู่ Digital Transformation นับเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน และยังต้องควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนให้มีความรู้เท่าทันกับโลกการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันได้นำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์การทำงานในมิติต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ทั้งด้านของฝั่งดูแลกฎหมาย หรือเป็นการนำมาเชื่อมโยงกับฝั่งตลาดเงิน มีเป้าหมายยกระดับดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆในเวทีโลกได้ในระยะยาว”นางสาวรื่นวดี กล่าว

Back to top button