NER รับอานิสงส์สงครามการค้าหนุนลูกค้าจีนไหลเข้า มั่นใจปี 62 โกยรายได้ 1.35 หมื่นลบ.

NER รับอานิสงส์สงครามการค้าหนุนลูกค้าจีนไหลเข้า มั่นใจปี 62 โกยรายได้ 1.35 หมื่นลบ.


นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตยางล้อรายใหม่จากจีนที่เตรียมย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยล่าสุดได้ไปเยี่ยมโรงงานในจีนของกลุ่มจงเช่อ รับเบอร์ ที่มีโรงงานยางล้อใน จ.ระยอง คาดว่าจะได้รับออร์เดอร์ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว

นอกจากนั้น กลุ่มจงเช่อ ยังได้แนะนำให้บริษัทได้พบกับกลุ่มซานเจี่ยวของจีนหรือผู้ผลิตยางล้อ Triangle tire ที่มีโรงงานในจีนและเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจีน ซึ่งมีความสนใจในสินค้าของบริษัท โดยได้ขอตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบคุณภาพแล้ว คาดว่าจะมีการเจรจาในขั้นตอนต่อไปในอนาคต ดังนั้น ในอนาคตอาจจะทำให้โครงสร้างรายได้ของ NER มีสัดส่วนยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเจรจากับกลุ่ม Silun ที่มีโรงงานยางล้อในมณฑลซานตงของจีนและในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความสนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้เดินหน้าในโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในอนาคต หลังจากที่โครงการขยายกำลังการผลิตตามแผนงานเดิมแล้วเสร็จในช่วงปี 63 ก็จะเข้าสู่ช่วงของการเรียนรู้ก่อนจะนำไปสู่การวางแผนงานผลิตในขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก NER เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในช่วงปี 63-65 โดยมีโอกาสสูงที่จะนำผลิตภัณฑ์กลุ่มยาง compound ไปต่อยอดผลิตยางล้อมอเตอร์ไซค์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ เพราะเป็นตลาดที่ยังเติบโตได้ดี

ด้านนายชูวิทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง (STR20) ว่า สิ้นเดือน มิ.ย.นี้จะเริ่มก่อสร้างและจะผลิตได้ในปลายปีนี้ ทำให้ปี 63 กำลังผลิตยางพาราแปรรูปรวมทั้งโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 465,600 ตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.3 แสนตันต่อปี ซึ่งนอกจากจะช่วยผลักดันรายได้ให้เติบโตขึ้นแล้ว จาก Econony of Scale ก็จะส่งผลดีต่อกำไรสุทธิของบริษัทด้วย

ประกอบกับ โรงไฟฟ้าไบโอแก๊สของบริษัทกำลังการผลิตรวม 4 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเฟสแรกใกล้จะเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าแล้ว จากนั้นจะเริ่มเฟสที่ 2 คาดว่าจะเดินเครื่องต้นปี 63 ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในโรงงานปีละ 60 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการในปี 62 บริษัทมั่นใจว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 1.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 1 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว  ตามกำลังการผลิตที่จะเพิ่มเป็น 2.6 แสนตันตั้งแต่ไตรมาส 2/62 จาก 2.1 แสนตันในปี 61

ขณะที่อัตรากำไรคาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 4.58% เนื่องจากราคายางดีขึ้นและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก ทำให้บริษัทสามารถทำราคาขายได้ดีขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับบริษัทยังได้รับออร์เดอร์จากลูกค้าเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าเร่งสั่งของก่อนราคาจะปรับสูงขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีออร์เดอร์รอส่งมอบไปถึง 5-6 เดือนแล้ว

นายชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงโอกาสที่อุตสาหกรรมยางธรรมชาติจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีของยางสังเคราะห์ว่า คุณสมบัติของยางธรรมชาติยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยางสังเคราะห์ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ทั้ง 100% เช่น ความทนทานต่อความร้อนสูงกว่ายางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตยางล้อที่จะเกิดความร้อนของการเสียดสีกันพื้นถนนค่อนข้างสูง จึงยังจำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติเป็นส่วนผสม และเชื่อว่าจะยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

Back to top button