จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยง! ฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จับตาปัจจัยเสี่ยงศก. H2 ลงทุนภาครัฐ-ภัยแล้ง-ดบ.สหรัฐ-หนี้กรีซ-ศก.จีน


นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังว่า ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ สถานการณ์ภัยแล้ง มาตรการของประเทศคู่ค้าต่อไทยในหลายประเด็น รวมถึงปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายของสหรัฐฯ วิกฤตกหนี้กรีซ และทิศทางเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังรอดูความชัดเจนของกรีซ ซึ่งหากกรีซไม่ชำระคืนหนี้ในวันที่ 12 ก.ค.58 ตามกำหนด อาจส่งผลให้กรีซหลุดออกจากกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก โดยคาดว่าจะมีการทบทวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเดือนก.ย.นี้

สำหรับการปรับตัวลงของตลาดหุ้นจีน มองว่าเป็นช่วงของการปรับฐาน ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน และเศรษฐกิจไทยโดยตรง เชื่อมั่นว่าจีนจะมีมาตรการทั้งการเงิน การคลัง ออกมาควบคุมและจะประคองเศรษฐกิจจีนไปได้อีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ในปี 58 ไว้ที่ 2.8% ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจากยอดการผลิตในอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ ที่จะมีการเร่งการผลิตมากขึ้น และผลผลิตเกษตรกรน่าจะออกมามากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/58 รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนและโครงการลงทุนใหม่ของภาครัฐให้เร็วขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งการผลิตและการลงทุนในภาคเอกชนที่จะตามมา อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวถึง 16% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 10%

ขณะที่ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือมูลค่าการส่งออกที่น่าจะหดตัว -1.7% จากเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง โดยปัจจัยด้านต่างประเทศ ส่งผลต่อการทรุดตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และมาตรการของประเทศคู่ค้ากดดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้อาจติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ด้านการบริโภคภาคเอกชนที่น่าจะขยายตัว -1.7% เป็นผลจากภาคการเกษตร ที่ยังคงได้รับผลกระทบของภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่วนเงินเฟ้อแม้จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักตลอดช่วงครึ่งปีแรก แต่สัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนก็ยังคงไม่ชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานและรายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ภาระหนี้สินยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้น่าจะขยายตัว -0.4% เป็นผลจากราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญ/บาร์เรล ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมาที่ 2.8%

ส่วนค่าเงินบาทปีนี้ประเมินไว้ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นไปตามภูมิภาค ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทไม่ได้ปรับตัวอ่อนค่ามาก เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย โดยไทยยังมีฐานเงินทุนสำรองที่ดีอยู่ ประกอบกับบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

Back to top button