ศาลปกครองสูดสุด ไม่รับคำฟ้องคดี “คสช.-นายกฯ” แต่งตั้งกก.สรรหา ส.ว.

ศาลปกครองสูดสุด ไม่รับคำฟ้องคดี “คสช.-นายกฯ” แต่งตั้งกก.สรรหา ส.ว.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้(25 มิ.ย. 62) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ไม่รับคำฟ้องคดีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากไม่ใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คดีนี้คณะราษฎรไทยแห่งชาติ ในฐานะผู้ฟ้องคดีรวมทั้งหมด 34 คน และมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 คน ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น และแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

ต่อมาโครงการอินเตอร์เน็ตกฎหมายประชาชน (ILaw) ได้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และรองหัวหน้า คสช., นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐฒนตรี และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิก คสช. แต่ไม่มีการเผยแพร่คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว อันเป็นกรณีที่ คสช.และพล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกันใช้อำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลาง และล้วนเป็นพรรคพวกของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 เป็นกรรมการสรรหา ซึ่งมิได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย อันขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 269 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 90 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ที่บัญญัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.จากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จึงมีผลทำให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการดังกล่าว ไม่ชอบและไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

อีกทั้งยังให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.กำหนดวิธีการคัดเลือกสรรหาส.ว.ได้เองโดยมิชอบ เพื่อให้เป็นไปตามแผนของ คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ อันเป็นการส่อเจตนาว่าคณะกรรมการสรรหา ส.ว.เอาคนของตนมาเป็นส.ว.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้แต่งตั้ง เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิของปวงชนชาวไทย เพื่อเปิดทางให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระต่อไป ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่น พรรคการเมืองอื่น และไม่ชอบด้วยครรลองประชาธิปไตย

นอกจากนี้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ขัดต่อมาตรา 3, 5, 25, 26, 43, 51, 52, 53, 58, 63 และ 78 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่เป็นไปตามเจตนารมย์และนโยบายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ประกาศต่อสาธารณชน ทั้งไม่มีการศึกษาวิเคราะห์และให้ประชาชนหรือผู้แทนภาคส่วนประชาชนเข้ามีส่วนร่วม จึงมิใช่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.นี้ ยังไม่เข้าสู่กระบวนการสรรหา ส.ว.ที่จะอยู่ในอำนาจของศาลฎีกา จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

1.เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.

2.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 แต่งตั้งผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหาส.ว. ประกอบด้วย 1. ผู้แทนองคมนตรี 2. ผู้แทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค 3. ผู้แทนสภาทนายความ 4. ผู้แทนสภาเกษตรกร 5. ผู้แทนสภาหอการค้า 6. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม 7. ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ 8. ผู้แทนของสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (สรส.) และ 9. ตัวแทนของผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 โดยต้องไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2

3.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ขัดต่อมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 แต่งตั้งบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เห็นได้ว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ส.ว.อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

สำหรับคำขอให้ศาลมีคำสั่งส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ขัดต่อมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นว่าการที่ศาลปกครองจะส่งบทกฎหมายใดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ไม่ว่าศาลจะเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่รับไว้พิจารณา

แต่เมื่อคดีนี้ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณา จึงไม่มีกรณีที่ต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับแก่คดีนี้ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามคำขอ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

กรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับเป็นให้รับเข้าสู่กระบวนการของศาลปกครองโดยพลัน และขอให้เสนอความเห็นถึงประธานศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาคดีนี้ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และให้พิจารณาพิพากษาคดีโดยเร่งด่วนที่สุด

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 197 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง กระทำการ ไม่ว่าจะเป็นการออกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด หรือละเว้นกระทำการ หรือเป็นกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (6) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกรอง พ.ศ.2542

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองหรือการจัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติไว้บรรลุผล โดยเจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจทางปกครองที่มีแหล่งที่มาจาก พ.ร.บ.หรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ. อันเป็นการกระทำในฐานะที่เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่หากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ใช้อำนาจทางบริหารของรัฐ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติขของรัฐธรรมนูญโดยตรง กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ ในความสัมพันธ์กับรัฐสภา หรือในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันไม่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง เจ้าหน้าที่หรือองค์กรดังกล่าวก็หาได้กระทำในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ และคดีพิพาทที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน

เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นคณะบุคคลที่มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นหัวหน้า และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีนี้จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องดคีทั้ง 2 เป็นคณะบุคคลและเป็นองค์กรซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทยให้เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ

เมื่อคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 ฟ้องว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่ถูกต้องตามที่มาตรา 269 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติไว้ อันเป็นการฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ใช้อำนาจทางบริหารของรัฐ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.เพื่อมาใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ มิใช่ฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ใช้อำนาจทางปกครองโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.หรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ. ออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใดเพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองหรือการจัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่บรรลุผล อันจะถือว่าเป็นการกระทำในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบกับมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 ที่ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ศาลปกครองจะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 23 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 นั้นจึงไม่อาจรับฟังได้

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี อ้างว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นมิได้เรียกให้ คสช.ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.เพื่อนำมาพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองหรือไม่ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา อันเป็นการขัดต่อข้อ 54 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2553 นั้น

ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่าระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 54 กำหนดว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้คู่กรณี หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานใดๆ ให้แก่ศาล กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า ข้อ 54 แห่งระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนดที่ให้สิทธิแก่คู่กรณีที่จะยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกให้คู่กรณีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานใดๆ ให้แก่ศาล แต่เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่ากรณีมีความจำเป็นต้องมีคำสั่งดังกล่าวตามคำขอของคู่กรณีหรือไม่

เมื่อคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งศาลต้องมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 ไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่มีเหตุหรือความจำเป็นต้องเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าวมาให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณา การที่ศาลปกครองชั้นต้นมิได้เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว จึงไม่เป็นการขัดต่อข้อ 54 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 34 จึงไม่อาจรับฟังได้

สำหรับคำขอให้ศาลปกครองสูงสุดเสนอความเห็นถึงประธานศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดโดยเร่งด่วนที่สุดนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใด หรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่

ดังนั้น การจะให้มีการวินิจฉัยคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดนั้น หากไม่มีกฎระเบียบหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด กำหนดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีโดยที่ประชุมใหญ่ไว้โดยเฉพาะ ย่อมเป็นอำนาจและดุลพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลหรือสิทธิของคู่กรณีที่จะเสนอความเห็นถึงประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ดำเนินการดังกล่าวได้

การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

Back to top button