เปิดกรุ 19 หุ้นเน่า! ปล่อยเทรดชั่วคราว 1-31 ก.ค.นี้ 2 โบรกฯเคาะ 3 ตัวเต็งลุ้นเก็งกำไรคึก

เปิดกรุ 19 หุ้นเน่า! ปล่อยเทรดชั่วคราว 1-31 ก.ค.นี้ 2 โบรกฯเคาะ 3 ตัวเต็งลุ้นเก็งกำไรคึก


จากกรณีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่จะเปิดให้ซื้อขายเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2562 จำนวน 19 บริษัทหลักทรัพย์

โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1. IEC, LVT และ YNP เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ติดหุ้นอยู่ มีโอกาสขายหุ้นภายในวันที่ 1-9 ก.ค. นี้ ก่อนจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

และกลุ่มที่ 2 มี 16 บริษัท เป็นบริษัทที่อยู่ใน SET 12 บริษัท คือ BLISS, BUI, EARTH, GSTEL, IFEC, KC, KTECH, NMG, POLAR, PRO, STHAI และ WR ส่วนที่เหลืออีก 4 บริษัท อยู่ใน MAI คือ A5, CHOU, NBC และ TSF

โดยหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกหยุดพักการซื้อขายโดยขึ้น (Suspension – SP) ต่อเนื่องมานานเกินกว่า 3 เดือน และยังไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีการเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทนับตั้งแต่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนข้างต้นระหว่างวันที่  1-31 กรกฎาคม 2562 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

1.ผู้ลงทุนต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance กล่าวคือ ผู้ซื้อต้องชำระเงินทั้งจำนวนก่อนการซื้อหลักทรัพย์

2.ตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมาย NC กำกับตลอดระยะเวลาที่ให้มีการซื้อขาย เพื่อเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์

3.ตลาดหลักทรัพย์จะไม่กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดของหลักทรัพย์ดังกล่าวในวันแรกที่มีการซื้อขาย คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เพื่อให้ราคาหลักทรัพย์เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงเนื่องจากไม่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวมานานแล้ว

4.ตลาดหลักทรัพย์จะไม่นำหลักทรัพย์มารวมในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) หรือดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai Index)

ทั้งนี้ เมื่อครบระยะเวลาดังกล่าว (คือ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้ โดยขึ้นเครื่องหมาย SP จนกว่าบริษัทจดทะเบียนนั้นจะแก้ไขให้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ หรือหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ภายในเวลาที่กำหนด ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะพิจารณาการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนั้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้เป็นบริษัทที่ถูกหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยขึ้นเครื่องหมาย SP มานาน ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ ขอให้ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลของบริษัทโดยละเอียด เช่น ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ความเห็นผู้สอบบัญชี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะกรรมการ ข่าวย้อนหลัง เป็นต้น ตลอดจนความเสี่ยงและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ด้าน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีให้นักลงทุนได้ขายหุ้น SP ที่ติดมานานโดยเฉพาะกลุ่มแรก 3 บริษัทเป็นโอกาสขายครั้งสุดท้าย

สำหรับกลุ่มที่ 2 ที่นำส่งงบการเงินให้ตลาดอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1/62 มี 5 บริษัท ประกอบด้วย A5, BLISS, BUI, PRO และ WR แต่มีเพียง BUI ที่มีโอกาสที่จะปลดเครื่องหมาย SP เร็วสุดและมากสุด เนื่องจากผู้สอบบัญชีแสดงความแบบไม่มีเงื่อนไข และ BUI ยังมีกำไรสุทธิในงวดไตรมาส 1/61 อีกทั้งยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด

ด้าน บล.ทรีนีตี้ มีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นที่ติดเครื่องหมาย  SP ได้แก่ 1.นักลงทุนควรศึกษาแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท และ 2. คำนึงถึง Corporate Governance ของบริษัท

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยไม่มีคำแนะนำสำหรับราคาที่เหมาะสมของหุ้นทั้งหมด 19 ตัวที่จะกลับเข้ามาซื้อขายและขอให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลของบริษัทดังกล่าวโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนและใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเนื่องจากในวันแรกของการซื้อขายหุ้นจะไม่มีราคา Celling และ Floor

อย่างไรก็ตาม มองว่านักลงทุนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับบริษัทที่มีพัฒนาการเชิงประจักษ์ของตัวเลขรายได้ กำไร อัตรากำไรของการทำธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและเป็นพลิกกลับเป็นบวก รวมไปถึงบริษัทนั้นๆ มีการส่งงบให้ตลาดหลักทรัพย์ตามเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ และได้ทำการแบ่งกลุ่มบริษัทเบื้องต้นเป็นดังนี้

1.บริษัทที่มีการส่งงบการเงินต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560: ไตรมาส 1/62ประกอบด้วย A5, BLISS, BUI, PRO และ WR

2.บริษัทที่ไม่ส่งงบการเงินตั้งแต่ปี 2560: EARTH (ส่งเพียงไตรมาส 1-2) ประกอบด้วย IFEC, POLAR

3.บริษัทที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่มีเงื่อนไขแต่มีข้อสังเกต ประกอบด้วย A5, BLISS, BUI, GSTEL, KC, KTECH, NBC,NMG, POLAR, PRO,TSF, WR (ซึ่งแสดงถึงงบการเงินของบริษัทนั้นๆ ถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน หรือหากมีข้อสังเกตก็ยังไม่ส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ของงบการเงินมากนักและยังสามารถนำงบการเงินมาวิเคราะห์ได้)

4.หุ้นที่งบการเงินผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นและมีข้อสังเกต: ประกอบด้วย CHUO, EARTH, IFEC (งบการเงินไม่น่าเชื่อถือเนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบที่เหมาะสมได้เพียงพอและมีผลกระทบต่องบการเงินส่วนอื่นๆ)

5.ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ประกอบด้วย TSF, NMG, CHUO

6.กำไรติดลบ ประกอบด้วย WR, GSTEL, NBC, KTECH, TSF, NMG, CHUO, KC, EARTH, IFEC, POLAR, IEC, YNP

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ประเมินหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะปลดเครื่องหมาย SP ชั่วคราวในช่วง 1-31 ก.ค.62 จำนวน 16 ตัว โดยฝ่ายวิจัยมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีหุ้นเดิมขายออกมาเสริมสภาพคล่องได้ในระยะ 1 เดือน แต่ผู้มีหุ้นเดิมบางรายอาจจะไม่ขายออกมาแต่ต้องการรอให้มีแก้ไขคุณสมบัติเมื่อกลับมาซื้อขายจะมีราคาหุ้นที่ดีขึ้น และมีนักลงทุนรายใหม่สนใจเก็งกำไร เนื่องจากเชื่อว่ามีราคาถูก สะท้อนสถานะที่ยังไม่ดี แต่เมื่อพร้อมกลับมาซื้อขายใหม่ราคาหุ้นจะปรับขึ้นแรง เนื่องจากได้แก้ไขจนมีสถานะธุรกิจและการเงินที่ดีขึ้นแล้ว ซึ่งความเสี่ยงคือจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่จะกลับมาซื้อขายใหม่ตามปกติได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานกลับมามีกำไรและมีทุนจดทะเบียนเข้าเกณฑ์ อาจมีการเก็งกำไรสูงกว่าตัวอื่น ๆ คือ PRO, BLISS, BUI โดย PRO มีกำไรสุทธิปี 61 ที่ 33 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นปี 62 ที่ 340 ล้านบาท, BLISS มีกำไรสุทธิปี 61 ที่ 73 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นปี 62 ที่ 1,636 ล้านบาท และ BUI มีกำไรสุทธิปี 61 ที่ 4 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นปี 62 ที่ 702 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ BUI มีกำไรยังไม่ถึง 30 ล้านบาท ต้องติดตามปี 62 อย่างไรก็ตามยังมีเกณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องผ่านคือ มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้เรียบร้อย มีผลการดำเนินงานที่มั่นคง มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนฯ และหากอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง ก็ต้องออกจากแผนให้สำเร็จก่อน

สำหรับ GSTEL คาดว่าจะกลับมาซื้อขายปกติได้ราว พ.ย.62 หลังส่งบการเงินได้ทุกไตรมาส เตรียมแผนปรับโครงสร้างหนี้ใน 1 เดือน ส่วน IFEC ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และเป็นประธานกรรมการบริษัท นายทวิช เตชะนาวากุล ให้ความมั่นใจว่าจะไม่ขายหุ้นออกมาในช่วงเปิดขายดังกล่าว

ด้าน EARTH ก.ล.ต.เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลมูลค่ายุติธรรมเหมืองถ่านหิน 2 แห่งในอินโดฯ ก่อนซื้อ-ขายหุ้น EARTH ทั้งนี้ทางบริษัทได้เคยชี้แจงข้อมูลที่ว่าจ้างผู้ประเมินอินโดฯมามีมูลค่าที่ 25,100 และ 29,000 ล้านบาท แต่ผู้ทำแผน บริษัท อีวาย คอร์ปปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) ได้จัดทำรายงานการถือหุ้นและสภาพเหมือง จึงตีค่ายุติธรรมออกมาน้อย ทางก.ล.ต.กำลังให้บริษัทและกรรมการบริษัทชี้แจงข้อมูล สามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดตามข่าว SET

ด้านหลักทรัพย์อื่น ๆ ยังมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน และคาดว่าต้องใช้เวลาพอควรในการแก้ไขคุณสมบัติให้เข้าเกณฑ์ จึงจะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเปิดซื้อขายหุ้น IFEC เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2562 หลังจากหุ้นบริษัทเป็นหนึ่งใน 16 หุ้นที่เข้าเกณฑ์จากการที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 เดือนนั้น ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งให้ความมั่นใจว่าจะไม่ขายหุ้นของตัวเองออกอย่างแน่นอน และก็ไม่มีความกังวลต่อราคาหุ้น

พร้อมยืนยันว่าบริษัทยังมีทั้งทรัพย์สินและโอกาสที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้ แผนฟื้นฟูธุรกิจโดยคณะบริหารปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ไขปมปัญหาทุกอย่างได้  IFEC จะสามารถกลับมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่น่าลงทุนได้อย่างแน่นอน

โดยล่าสุด บอร์ดได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานราว 30 ปี ให้เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจ (Chief Business Development Officer) โดยให้มีผลทันที

อีกทั้ง บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาซื้อกิจการบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADAM และเปลี่ยนชื่อย่อใหม่เป็น A5 เปิดเผยว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงเข้าซื้อกิจการ ADAM โดยปัจจุบันไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกับ ADAM แล้ว

โดย A5 ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้มีโครงการอยู่ในมือ 6 โครงการ ทั้งในส่วนของคอนโดมิเนียม พร้อมมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถกลับมาเทรดได้ตามเกณฑ์ของตลท. ภายในปี 2563

Back to top button