สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 มิ.ย. 2562

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 มิ.ย. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) โดยได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธุรกิจสุขภาพ และตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐที่อ่อนแรงลงในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงไม่มากนัก ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวก เนื่องจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงานเป็นปัจจัยหนุนตลาดในระหว่างวัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นอกรอบการประชุม G20 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความหวังที่ว่า ผู้นำสหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าในระหว่างการพบปะกันครั้งนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,536.82 จุด ลดลง 11.40 จุด หรือ -0.04% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,913.78 จุด ลดลง 3.60 จุด หรือ -0.12% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,909.97 จุด เพิ่มขึ้น 25.25 จุด หรือ +0.32%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังจากการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ได้ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และนักลงทุนยังกังวลกับความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.31% ปิดที่ 382.20 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่  5,500.72 จุด ลดลง 13.85 จุด หรือ -0.25% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 7,909.97 จุด เพิ่มขึ้น 25.25 จุด หรือ +0.32%  และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,416.39 จุด ลดลง 6.04 จุด หรือ -0.08%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลกับความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และยังผิดหวังกับการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ได้ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,416.39 จุด ลดลง 6.04 จุด หรือ -0.08%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐร่วงลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเวียนนาในวันที่ 1 ก.ค.นี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 1.55 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 59.38 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.44 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 66.49 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 วันทำการ นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 3.3 ดอลลาร์ หรือ 0.23% ปิดที่ 1,415.40  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 0.6 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 15.294 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 6.8 ดอลลาร์ หรือ 0.92% ปิดที่ 816.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 6.80 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,525.70 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า สหรัฐและจีนใกล้บรรลุข้อตกลงทางการค้า

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.83 เยน จากระดับ 107.14 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9779 ฟรังก์ จากระดับ 0.9751 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3115 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3181 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1369 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1372 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2688 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2694 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6984 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6959 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button