บอร์ด EEC รับทราบความคืบหน้าไฮสปีดเทรน ยันเซ็นสัญญากลุ่ม “ซีพี” เดือนนี้
บอร์ด EEC รับทราบความคืบหน้าไฮสปีดเทรน ยันเซ็นสัญญากลุ่ม "ซีพี" เดือนนี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ครั้งที่ 7/2562 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้พิจารณา และรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บอร์ด EEC รับทราบผลการดำเนินงานเพื่อเตรียมการลงนามสัญญาร่วมทุนภายในเดือน ก.ค.62 นี้ ได้แก่ การจัดทำเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาร่วมลงทุน เรื่องทางเทคนิค การเงิน และกำหนดรายละเอียดเพื่อตรวจสอบหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐที่ต้องดำเนินการเป็นการเฉพาะ, การเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในประเด็นมาตรการป้องกันลดผลกระทบการเดินรถไฟฯ การดำเนินงานศูนย์ร้องเรียน และสอบถามความวิตกกังวลของผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น, การจัดตั้งหน่วยงานบริหารสัญญาโครงการฯ และการจัดทำแผนส่งมอบพื้นที่
ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 รับทราบความเห็นของกรรมการ EEC ต่อร่างสัญญาร่วมลงทุน และคำชี้แจงของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต่อร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
รวมทั้ง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก บอร์ด EEC รับทราบและพิจารณาเห็นด้วย ต่อความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ที่มีมติยืนไม่รับพิจารณาข้อเสนอกล่องที่ 6/10 และกล่องที่ 9/10 ของกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง ฯ เนื่องจากได้ยื่นหลังกำหนดเวลาตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน โดยจะทำการแจ้งผลการพิจารณาต่อกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบสรุปผลการประชุมบอร์ด EEC ในรอบ 2 ปี ซึ่งได้มีเรื่องพิจารณา 17 ครั้ง อนุมัติเรื่องสำคัญรวม 52 เรื่อง อาทิ เห็นชอบแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งมี 8 แผนงาน, เห็นชอบหลักการจัดทำข้อเสนอกรอบขั้นตอนการเร่งรัดอนุมัติโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในพื้นที่อีอีซี (PPP EEC Track) เป็นต้น,
พร้อมทั้ง เห็นชอบหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยพื้นที่ตลอดแนวโครงการตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงสนามบินอู่ตะเภา เป็น “เขตส่งเสริม, เห็นชอบแนวทางพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ แผนการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะตัวอย่าง, เห็นชอบแผนภาพรวมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รับทราบความก้าวหน้าโครงการของ EEC เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3
รวมทั้ง รับทราบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินผ่านความเห็นชอบการประเมินผล EIA และรับทราบผลการประชุม ครม.เห็นชอบการคัดเลือก ผลการเจรจาและร่างสัญญาโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3