IRPC จับมือ 2 พันธมิตรเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำมันแปรรูปจากพลาสติก หวังลดปัญหาขยะล้นเมือง

IRPC จับมือ 2 พันธมิตรเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำมันแปรรูปจากพลาสติก หวังลดปัญหาขยะล้นเมือง


นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการแปรรูปขยะพลาสติกร่วมกับบริษัท เทคซ่า เอนเนอร์ยี จำกัด และบริษัท วีเอ เอนเนอร์ยี จำกัด ปริมาณ 300,000 – 400,000 ลิตรต่อเดือน เป็นน้ำมันที่ได้จากกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดิบ โดยผ่านการรับรองจากบริษัทตรวจสอบคุณภาพแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าเป็นน้ำมันแปรรูปที่มีคุณภาพที่ดีได้มาตรฐานสามารถใช้กับโรงกลั่นน้ำมันได้

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้นอกจากการได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ช่วยเพิ่มทางเลือกของวัตถุดิบในการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาพลังงานให้ประเทศแล้ว ที่สำคัญช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นทรัพยากร และนำกลับมาใช้ใหม่ แก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปริมาณน้ำมันดังกล่าวคิดเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้ราว 460-560 ตันต่อเดือน

“ในฐานะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ได้เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก เนื่องจากพลาสติกใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย และปัจจุบันมีการคิดค้นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด IRPC จึงได้สนับสนุนการใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะพลาสติกเป็นการส่งเสริมการลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นับเป็นการดำเนินการที่สอดรับกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (CIRCULAR ECONOMY) และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการทำโรดแมพ การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ให้บรรลุสู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570″  นายนพดล กล่าว

สำหรับบริษัท เทคซ่า เอนเนอร์ยี จำกัด และบริษัท วีเอ เอนเนอร์ยี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันขยะพลาสติกแปรรูป เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย “ไพโรไลซิส” (Pyrolysis) ผลิตน้ำมันขยะพลาสติกแปรรูป ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นการเผาไหม้แบบ ไร้ออกซิเจน ที่อุณหภูมิระหว่าง 200-500 องศาเซลเซียส เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบจากสภาวะของแข็งให้ระเหิดเป็นไอน้ำมันและก๊าซสังเคราะห์ต่างๆ จากนั้นทำการควบแน่นสู่สถานะของเหลว ซึ่งผลผลิตที่ได้คือน้ำมันปิโตรเลียม (น้ำมันเตา ดีเซล และแนฟทา) ที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคอุตสาหกรรม คมนาคม หรือผลิตไฟฟ้าได้

“ที่ผ่านมาการกำจัดขยะพลาสติกทำได้ด้วยวิธีเผาหรือฝังกลบ ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่ฝังกลบขยะมีอยู่อย่างจำกัด อาจไม่เพียงพอกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น สำหรับวิธีการเผาก็ต้องมีเทคโนโลยีนวัตกรรมการเผาที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่การลงทุนแปรรูปขยะพลาสติกด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ากลับมาใช้ใหม่

อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของ IRPC และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เรื่องการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน” นายนพดล กล่าว

Back to top button