มติ กกพ.ตรึงค่า Ft ช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.62 ที่ -11.60 สต./หน่วย หวังบรรเทาภาวะเศรษฐกิจ

มติ กกพ.ตรึงค่า Ft ช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.62 ที่ -11.60 สต./หน่วย หวังบรรเทาภาวะเศรษฐกิจ


นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2562 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไม่เปลี่ยนแปลงจากงวดก่อน

“กกพ. ให้คงค่าเอฟทีต่ออีก 4 เดือน โดยจะเน้นแนวทางการบริหารจัดการ โดยพยายามรักษาค่าเอฟทีในระดับเดิม เนื่องจากไม่ต้องการให้ปัจจัยค่าไฟฟ้ามากระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ภาวะการส่งออกของประเทศชะลอตัวลงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะการค้าโลก” นางสาวนฤภัทร กล่าว

นางสาวนฤภัทร กล่าวเพิ่มว่า คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 9,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการบริหารจัดการค่าเอฟที โดยส่วนหนึ่งนำเงินมาจากการกำกับประสิทธิภาพการดำเนินงานของการไฟฟ้าในปี 2561 จำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาท และในส่วนที่เหลือประมาณ 6,000 ล้านบาท จะเป็นความร่วมมือกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อช่วยรับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงแทนประชาชนไปชั่วคราวก่อน

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจไม่ปรับเพิ่มค่าเอฟทีในรอบนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 2562) เป็นการบริหารจัดการภายใต้ปัจจัยหลักๆ ทางด้านต้นทุนขาขึ้น ที่ยังคงมีความผันผวน และกดดันต่อค่าเอฟที ภายใต้สมมติฐานประกอบด้วย

  1. อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าเท่ากับ 31.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรืออ่อนค่าลงกว่าช่วงที่ประมาณการในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2562 ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ระดับ 31.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
  2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2562 เท่ากับ 64,416.20 ล้านหน่วย ปรับตัวลดลงจากช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2562 เท่ากับ 3,966.19 ล้านหน่วย คิดเป็น 5.80% ตามสภาพความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปี
  3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2562 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.78% รองลงมาเป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 18.91 ลิกไนต์ และถ่านหินนำเข้า อยู่ที่ 8.79% และ 7.93% ตามลำดับ
  4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 304.88 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 23.43 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,739.31 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,643.13 บาทต่อตัน เท่ากับ 96.18 บาทต่อตัน

Back to top button