ตัวเลขส่งออกมิ.ย. ลดลง 4 เดือนติด ฟากนำเข้าหดตัว 9.44% เซ่นปมสงครามการค้าทำศก.โลกชะลอ

ตัวเลขส่งออกมิ.ย. ลดลง 4 เดือนติด ฟากนำเข้าหดตัว 9.44% เซ่นปมสงครามการค้า


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมิ.ย.62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,409.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.15% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 18,197.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -9.44% ดุลการค้า มิ.ย. เกินดุล 3,212 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่ภาพรวมภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 6 เดือนปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 122,970.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.91% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 119,027.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.41% ดุลการค้า เกินดุล 3,943 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย.ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการค้าโลก อุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่องนับจากปลายปี 61 สาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐและจีน

ประกอบกับความพยายามในการเจรจาแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ข้อเสนอดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ความขัดแย้งของประเทศคู้ค่าอื่นๆ ยังเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับรายสินค้าพบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัว โดยเฉพาะยางพารากลับมาขยายตัวและมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งปริมาณและราคา เนื่องจากตลาดจีนและสหรัฐนำเข้ายางพาราจากไทยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ โดยรัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดสหรัฐฯ มีการนำเข้ายางเพื่อผลิตรองเท้า ยางรถยนต์ และยางรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงทองคำที่ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 317% เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับข้อพิพาททางการค้าเป็นปัจจัยให้มีการถือครองทองคำมากขึ้น เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ส่วนการส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ส่วนมากยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อสินค้าที่ถูกปรับขึ้นภาษี และผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง และบรรยากาศการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของโลกและของไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัว 3.7% เป็นผลจากการส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัว 1.9% 2.1% และ 7.7% ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพหดตัว 7.9 % เป็นผลมาจากการส่งออกไป จีน  CLMV และอาเซียน-5 หดตัว 14.9% 9.3% และ 3.5% ตามลำดับ สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองหดตัว 9.1%

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ยังมีความท้าทาย โดยยังมีปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญ คือ 1) ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ 2) โอกาสทดแทนสินค้าจากการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศต่างๆ 3) สินค้าที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวดี และ 4) โอกาสส่งออกในพื้นที่การค้าใหม่ ตามนโยบายส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะรายพื้นที่

ขณะที่ปัจจัยเชิงลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในการเจรจาหาข้อยุติ 2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจปี 62 จะขยายตัวที่ 3.3% ซึ่งขยายตัวต่ำสุดนับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 51-52

3) การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อันเป็นผลกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยอยู่ระดับต่ำ 4) การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าครึ่งปีแรกและมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5) วัฏจักรสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ 6) ความท้าทายกับการปรับตัวเข้าสู่การผลิตเพื่อให้ตรงกับความต้องการสินค้าใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า การส่งออกในช่วงไตรมาส 3/62 อาจยังไม่สดใสมากนัก เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาสงครามการค้าที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งไทยเป็น supply chain ของจีน แต่คาดว่าในไตรมาส 4/62 จะปรับตัวดีขึ้นได้ โดยหากมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือแต่ละเดือนยังสามารถทำได้ในระดับ 21,000 ล้านดอลลาร์ ก็มีโอกาสที่การส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตได้ในระดับ 1-2% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3%

“ถ้าส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือทำได้ 21,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ก็มีโอกาสที่ส่งออกปีนี้จะโตได้ 1-2% ยังมีลุ้นได้ และมองว่าในช่วงไตรมาส 3 น่าจะเป็น bottom out ขณะที่ ไตรมาส 4 จะดีดขึ้น ถ้าไม่มีปัญหาทางการค้าหรือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศใดๆ เข้ามากระทบเพิ่มเติม…แต่เป้าหมายที่ 3% ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรารุกจริงๆ และมีเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยเสริม เพราะสินค้าไทยยังสามารถแข่งขันได้ และมีชื่อเสียงดี ดังนั้นคงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่านั้น กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ว่า ธปท.มีมาตรการต่างๆ มาช่วยดูแลค่าเงินอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ต้องการเห็นผู้ประกอบการมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีการที่สามารถทำได้ เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า, การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า, การประกันความเสี่ยงค่าเงิน, การใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ, การหักลบรายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศ และการใช้เงินตราต่างประเทศหลายสกุล หรือเลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบเอชีย ทั้งนี้เพื่อช่วยลดแรงกดดันจากค่าเงินบาทลงได้

“ธปท.ก็มีมาตรการในการดูแลค่าเงินบาทอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินมันมีปัจจัยเยอะ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหากจะลดดอกเบี้ยมากไป ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศได้” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกปี 62 โดยในระยะเร่งด่วน ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น

นอกจากนี้ จะใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศนำสินค้าไทยเข้าไปด้วย และกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ โดยขยายโอกาสการส่งออกในตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ และอินเดีย และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น แคนาดา รวมทั้งเร่งขยายความร่วมมือและเจรจาความตกลงทางการค้า การรักษามาตรฐานสินค้า ขยายช่องทางการขายสู่ออนไลน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน

Back to top button