PTT จ่อเซ็นขายก๊าซฯให้ “RATCH-เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย” ราว 340 ลบ.ฟ./วัน สัปดาห์หน้า

PTT พร้อมซ็นสัญญาขายก๊าซธรรมกชาติให้ "RATCH-เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย" ราว 340 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน อายุสัญญา  25 ปี ในสัปดาห์หน้า


นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับกลุ่มบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงฝั่งตะวันตก 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ( MW) ในจ.ราชบุรีนั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า พร้อมกับการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS) ผู้ที่ได้รับสิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ

สำหรับปริมาณการขายก๊าซฯให้กับกลุ่ม RATCH คาดว่าจะอยู่ที่ราว 200-240 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน อายุสัญญา 25 ปี ส่วนปริมาณขายก๊าซฯ ให้กับ NPS คาดว่าจะไม่เกิน 100 ล้านลบ.ฟ./วัน อายุสัญญา 25 ปี

คาดว่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซฯได้ทั้ง 2 สัญญาในสัปดาห์หน้า เพราะกระบวนการตอนนี้ทั้งสองได้ยื่นเอกสารมาหมดแล้ว หลักการการลงนามสัญญาก๊าซฯของโรงไฟฟ้า IPP จะต้องมีสัญญา PPA เท่านั้น”นายวุฒิกร กล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตกของ RATCH ดำเนินโครงการโดยบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อายุสัญญา  25 ปี ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 เครื่อง เครื่องละ 700 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 67 และปี 68

ส่วนโรงไฟฟ้า NPS เป็นของกลุ่ม บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 540 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บริเวณตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีความล่าช้าหลังจากที่มีกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้มีการเปลี่ยนเขื้อเพลิงเป็นก๊าซฯในที่สุด

ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ RATCH กล่าวว่า การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหินกองเพาเวอร์ คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 5 แสนเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ จะเริ่มดำเนินก่อสร้างได้ในปี 64  ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับปตท. ในปริมาณ 220-240 ล้านลบ.ฟ./วัน  หรือราว 1.4-1.5 ล้านตัน และเจรจากับพันธมิตรที่จะมาร่วมโครงการ โดยจะต้องพิจารณาว่าการมีพันธมิตรแล้วจะสามารถ Synergy และทำให้บริษัทมีความเข้มแข็งได้หรือไม่ ซึ่งไม่ได้เร่งรีบ เพราะโครงการยังมีระยะเวลานานที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 67 และ 68

“ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจา เราต้องดูว่าดำเนินการแล้วจะ Synergy ทำให้บริษัทเข้มแข็งเราก็ดู อะไรทำให้บริษัทเข้มแข็งได้เราก็ทำ สัดส่วนการถือหุ้นเราก็คงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จะมีพันธมิตรมาถือกี่เปอร์เซนต์นั้นขึ้นอยู่กับการเจรจา ยังตอบไม่ได้”นายกิจจา กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้โครงการดังกล่าวจะมีอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดในระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศนั้น แต่ก็ยังทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนระดับที่เหมาะสม และสามารถรองรับการขยายธุรกิจได้ในอนาคต อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่จะสามารถส่งไฟฟ้าไปยังภาคใต้ได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีเพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ยังไม่เพียงพอ และตามแผนกว่าจะมีโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้จะเกิดขึ้นในปี 70

ทั้งนี้ การได้รับสิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นที่กังขาของหลายฝ่าย แต่ยืนยันได้ว่าเป็นไปตามขั้นตอนและไม่ได้เร่งรัดการดำเนินการแต่อย่างใด โดยกระบวนการได้เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.62 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 2561-2580  (PDP2018) หลังจากนั้นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาตามขั้นตอน ก่อนจะมีการลงนามสัญญา PPA กับกฟผ.เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาประมาณ 7 เดือน

ส่วนความคืบหน้าของการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว จะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนธ.ค.62 ล่าช้าจากเดิมที่จะ COD ในเดือน ก.พ.62 หลังจากเกิดอุบัติเหตุสันเขื่อนดินย่อยส่วน D แตกเมื่อกลางปี 61 โดยโครงการมีการทำประกันครอบคลุมแต่การเจรจาเรื่องเงินเคลมประกันคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน

Back to top button