“สนธิรัตน์”ฉายภาพกว้างเล็งปรับ“พีดีพี 2018” เน้นชุมชนมีส่วนร่วม-ยันโรงใหม่RATCH ไร้ปัญหา!
“สนธิรัตน์” ฉายภาพกว้างเล็งปรับ “พีดีพี 2018” เน้นชุมชนมีส่วนร่วม-ยันโรงใหม่ RATCH ไร้ปัญหา!
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ส่วนหนึ่งจะให้มีการกระจายความมั่งคั่งและให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยมองถึงโอกาสการเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเป็นส่วนร่วมระหว่างชุมชนและผู้ลงทุน เบื้องต้นยังมองโซลาร์เป็นเชื้อเพลิงหลัก รวมถึงเพิ่มเติมการเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียนเพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าในอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าตลอดแผน PDP อาจจะถูกลงกว่าตามแผนเดิมที่กำหนดเฉลี่ยราคาค่าไฟฟ้าราว 3.60 บาท/หน่วย ตลอดแผน 20 ปี
อย่างไรก็ตาม การทบทวนแผน PDP ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จได้เพราะต้องใช้เวลารับฟังความคิดเห็นแย้งจากหลายฝ่าย แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตกใหม่ขนาดรวม 1,400 เมกะวัตต์ (MW) ที่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว
“เท่าที่ติดตามมาวงการพลังงานส่วนใหญ่พูดคุยถึงมิติการลงทุนของเอกชนกันมาก แต่เราจะปรับให้มากขึ้นจะให้ลงไปสู่ประชาชนระดับฐานรากมากขึ้นเพื่อให้ชุมชนเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ใช้พลังงานเป็น key driver ตัวหนึ่งในการยกระดับรายได้ชุมชน และอันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของแผน PDP”นายสนธิรัตน์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายและทิศทางอนาคตพลังงานไทย” ในงานสัมมนา “เจาะลึกแผนพีดีพี ทิศทางพลังงานไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่”
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาศักยภาพของระบบสายส่งทั่วประเทศว่าพื้นที่ใดที่จะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบก็มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่นั้น ซึ่งจะเป็นการลงทุนร่วมกับเอกชนกับชุมชน โดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีวงเงินมากเพียงพอ เป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยได้ให้กองทุนฯแก้ระเบียบ วิธีการขอการสนับสนุนเงินกองทุน ให้สอดรับกับการเกิดพลังงานชุมชน ซึ่งคาดว่ากองทุนฯจะส่งรายละเอียดมาให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นวงเงินดำเนินการได้ในปี 63 ภายใต้กรอบวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ จะแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้ และชุมชนสามารถซื้อหุ้นได้ในระดับหนึ่งร่วมกับเอกชนซึ่งเป็นผู้ลงทุนในโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งขนาดกำลังการผลิตก็จะเริ่มจากระดับเล็กและขยายให้ใหญ่ขึ้นในอนาคต ก็จะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน โดยเบื้องต้นเห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) น่าจะเป็นทิศทางหลัก ขณะที่พลังงานชีวมวลและชีวภาพ รวมถึงเชื้อเพลิงขยะ ก็เป็นพลังงานทดแทนที่จะสามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ การดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมธุรกิจพลังงานและเป็นเจ้าของพลังงาน ยังจะเปิดโอกาสให้มีสตาร์อัพด้านพลังงานเข้ามาด้วย
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ทิศทางพลังงานที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มถูกลงด้วยเทคโนโลยีที่ถูกลง และการเพิ่มเติมแผน PDP ที่จะนำจุดแข็งของไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ก็ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการซื้อขายพลังงาน หรือเป็นเทรดเดอร์พลังงานไฟฟ้าของภูมิภาค ซึ่งหากไทยก้าวไปจุดนั้นได้ก็จะทำให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น และการที่เป็นผู้บริหารจัดการด้านราคาก็จะทำให้สามารถทำราคาและศักยภาพการแข่งขันที่ดี ก็เชื่อว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP 20 ปีในปัจจุบันที่อยู่ราว 3.60 บาท/หน่วยนั้นมีโอกาสถูกลงได้อีก
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวจะยังคงต้องดูแลประชาชนใน 2 กลุ่มให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าราคาถูก ประกอบด้วย ชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการตั้งโรงไฟฟ้า แม้ปัจจุบันจะมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าดูแลในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ชุมชุนควรเป็นผู้ได้รับสิทธิในการใช้ไฟฟ้าราคาถูกด้วย โดยอาจะให้เป็นส่วนลดหรือใช้ฟรีส่วนหนึ่ง กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่จะต้องใช้ค่าไฟฟ้าราคาถูก โดยจะผูกกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในช่วงเดือนต.ค.นี้
ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ”วิพากษ์ แผนพีดีพี ในมุมมองนักวิชาการ” ว่า การจัดทำ PDP2018 ยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศใน 3 ด้าน คือ เพราะยังมีการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และซื้อไฟฟ้าพลังงานจากต่างประเทศ ,ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึง 80% ไม่ตอบโจทย์การลดปัญหาโลกร้อน และการผลิตไฟฟ้ายังต้องคงพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสูงถึง 60%
ดังนั้น จึงเสนอให้รมว.พลังงาน ทบทวนแผน PDP2018 โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากเดิมปลายแผนปี 80 อยู่ที่ 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม เป็น 40% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม เพราะจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืนทั้ง 3 ด้านดังกล่าวได้ อีกทั้งจะช่วยให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลงได้ตามเป้าหมาย