บอร์ด EEC เห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน-แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
บอร์ด EEC เห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน-แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
โดยแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินจะมีการกำหนดให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทต่างๆ ให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพและบทบาทของพื้นที่ พร้อมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเชื่อมโยงการพัฒนาเมืองและชนบทให้มีความเหมาะสมคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ได้แก่
1.พื้นที่พัฒนาเมือง ประกอบด้วย ที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม ที่ดินประเภทชุชนเมือง ที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาเมือง และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
2.พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม
3.พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทชุมชนชนบท ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม และที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีการกำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
4.พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม
ขณะที่ร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการจัดทำแผนผังฯ จาก 8 ระบบ เป็น 5 แผนผัง และ 1 มาตรการ ได้แก่
1.แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบควบคุมมลภาวะ ส่งเสริมระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะที่ไม่ส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียง
2.แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง รองรับความต้องการการเดินทางและขนส่งสินค้าใน EEC ในอนาคตอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ
3.แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม เพื่อแสดงบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ชุมชนดั้งเดิม ย่านชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษ พร้อมสร้างสมดุลชุมชนเมืองและชนบท คู่กับการอนุรักษ์ย่านชุมชนที่มีคุณค่า
4.แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ รองรับความต้องการน้ำอย่างทั่วถึงเหมาะสมเพียงพอ พัฒนาระบบระบายน้ำ ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เหมาะกับสภาพพื้นที่
5.แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี และวัตถุอันตรายจากการจัดเก็บผลิตและ การขนส่ง
6.มาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและการประกอบกิจการพิเศษ บริหารจัดการขยะ ของเสีย พลังงาน ป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูง