“หุ้นแบงก์” ร่วงหนัก! เซ่นกนง.หั่นดอกเบี้ย 0.25% หวั่นกระทบรายได้ปล่อยกู้หด
“หุ้นแบงก์” ร่วงหนัก! เซ่นกนง.หั่นดอกเบี้ย 0.25% หวั่นกระทบรายได้ปล่อยกู้หด
สืบเนื่องจากกรณี วันนี้ (7ส.ค.62) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และต่ำกว่าศักยภาพ โดยการส่งออกหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้
โดยจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงลบต่อหุ้นในกลุ่มธนาคาร โดยล่าสุด ณ เวลา 16.13 น. ราคาหุ้น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK อยู่ที่ระดับ 167.50 บาท ลบ 6 บาท หรือ 3.46% สูงสุดที่ระดับ 174.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 166 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.23 พันล้านบาท
ด้านราคาหุ้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL อยู่ที่ระดับ 172 บาท ลบ 5 บาท หรือ 2.82% สูงสุดที่ระดับ 178.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 171.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.8 พันล้านบาท
เช่นเดียวกับราคาหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB อยู่ที่ระดับ 131.50 บาท ลบ 2 บาท หรือ 1.50% สูงสุดที่ระดับ 136 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 130 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.6 พันล้านบาท
อนึ่ง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับ กนง. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดสินเชื่อการปล่อยกู้ของธนาคาร
ด้าน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 1.50% ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดไว้ว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบาย ภายหลังจากที่มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อต้นเดือนธ.ค.61 และนับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบมากกว่า 7 ปี
โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นไปตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของโลกที่ผ่อนคลายลง โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีธนาคารกลางถึง 5 จาก 11 ประเทศที่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางของอินเดีย อาจกล่าวได้ว่าเป็น “การแข่งขันการผ่อนคลายนโยบายการเงิน”
ทั้งนี้ มติ กนง.ดังกล่าวส่งผลให้เงินบาทผันผวน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงทันทีจากระดับ 30.757 บาท/ดอลลาร์ มาแตะระดับสูงสุดที่ 30.880 บาท/ดอลลาร์
ขณะที่ บล.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ได้แก่หุ้นกลุ่มลิสซิ่ง, กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มอาหาร และกลุ่มอิเล็กทรอนิกซ์ ขณะที่เป็นกลางถึงลบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่