เละ!! “ดาวโจนส์” รูดคืนเดียว 800 จุด ยุโรปไม่น้อยหน้า ดิ่งหนักเกิน 2% ยกแผง
เละ!! “ดาวโจนส์” รูดคืนเดียว 800 จุด ยุโรปไม่น้อยหน้า ดิ่งหนักเกิน 2% ยกแผง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 800 จุดเมื่อคืนนี้ (14 ส.ค.) หลังจากตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve หรือภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 17 ปี และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีที่หดตัวลงในไตรมาส 2
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,479.42 จุด ร่วงลง 800.49 จุด หรือ -3.05% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,840.60 จุด ลดลง 85.72 จุด หรือ -2.93% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,773.94 จุด ดิ่งลง 242.42 จุด หรือ -3.02%
ด้านดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงในวันเดียวที่หนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2561 หลังจากตลาดพันธบัตรสหรัฐส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 1.630% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.623%
ขณะเดียวกัน ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในหลายประเทศยังส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ขยายตัว 4.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 17 ปี ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า GDP ไตรมาส 2 หดตัวลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2561
นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายท่ามกลางความกังวลที่ว่า อังกฤษอาจจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลง พร้อมกับจับตาข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐกล่าวว่า การที่สหรัฐตัดสินใจชะลอการขึ้นภาษีต่อสินค้าบางรายการที่นำเข้าจากจีนนั้น ไม่ได้มีสาเหตุจากการที่สหรัฐยอมอ่อนข้อหรือมีการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับจีน แต่เป็นเพราะรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้บริโภคชาวอเมริกันเท่านั้น
ด้านหุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงอย่างหนัก โดยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง และความกังวลเกี่ยวกับภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตร โดยหุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 3.3% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ดิ่งลง 4.3% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ร่วงลง 4.15% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ทรุดลง 5.3% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 4.7% และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดิ่งลง 4.2%
ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่พุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 4.03% หุ้นเชฟรอน ร่วงลง 3.8% หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ดิ่งลง 6.2% หุ้นเดวอน เอนเนอร์จี ดิ่งลง 6.7% หุ้นมาราธอน ปิโตรเลียม ร่วงลง 5.3% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ลดลง 2.3% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ดิ่งลง 5.9%
ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นบริษัทที่ให้บริการด้านการสื่อสารปรับตัวลงเช่นกัน โดยหุ้นแอปเปิล ร่วงลง 2.3% หุ้นอินเทล ลดลง 2.07% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ดิ่งลง 4% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 3% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ร่วงลง 2.7% หุ้นเน็ตฟลิตซ์ ร่วงลง 4.27% หุ้นอเมซอนดอทคอม ร่วงลง 3.3% หุ้นทวิตเตอร์ ดิ่งลง 2.8% หุ้นสแนป ร่วงลง 3.7% หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 4.6%
นอกจากนี้ ความวิตกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังได้ฉุดหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภค โดยหุ้นไนกี้ ร่วงลง 2.7% หุ้นพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) ลดลง 1.2% หุ้นเป๊ปซี่โค ลดลง 0.6% หุ้นโคคา-โคลา ลดลง 0.9% หุ้นฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชันแนล ลดลง 0.7% หุ้นแมทเทล ดิ่งลง 3.8%
ด้าน หุ้นเมซีส์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ทะยานขึ้น 13.2% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 2 ที่ระดับ 5.546 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.542 พันล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของราคาน้ำมัน แม้ว่าราคาสินค้าทุน และรถยนต์ปรับตัวลง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนก.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนส.ค. จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีการผลิตเดือนส.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิ.ย.
พร้อมกันนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (14 ส.ค.) โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวลง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนลดลง นอกจากนี้ การร่วงลงของดัชนีดาวโจนส์ในช่วงเปิดตลาดหุ้นสหรัฐ ได้ส่งผลถ่วงตลาดหุ้นยุโรปลงด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.68% ปิดที่ 366.16 จุด, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,251.30 จุด ร่วง 111.76 จุด หรือ -2.08%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,492.66 จุด ร่วงลง 257.47 จุด หรือ -2.19% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,147.88 จุด ลดลง 103.02 จุด หรือ -1.42%
ทั้งนี้ ตลาดปรับตัวลงหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 หดตัวลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส หลังจากขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 1
อีกทั้งตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนในเดือนมิ.ย.ลดลง 1.6% เมื่อเทียบรายเดือน และ ลดลง 2.6% เมื่อเทียบรายปี
นอกจากนี้ การร่วงลงของดัชนีดาวโจนส์ในช่วงเปิดตลาด หลังตลาดพันธบัตรสหรัฐส่งสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ได้ฉุดตลาดหุ้นยุโรปลงด้วย
หุ้นอาร์เซโลมิตตัลในตลาดหุ้นฝรั่งเศสร่วง 7.82% และ หุ้นเอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ร่วงลง 4.42%
หุ้นอินฟิเนียน เทคโนโลยีส์ในตลาดหุ้นเยอรมนี ร่วง 5.52% ขณะที่หุ้นดอยซ์ แบงก์ และ หุ้นธิสเซ่นครุปป์ ร่วง 5.21% และ 4.16% ตามลำดับ
ส่วนหุ้น EVRAZ ในตลาดหุ้นอังกฤษ ร่วง 5.21% และ หุ้นเอ็นเอ็มซี เฮลธ์ ร่วง 4.88%