รมว.คมนาคม หนุน THAI ซื้อเครื่องบิน 38 ลำ 1.56 แสนลบ. เตรียมเสนอครม.เร็วๆ นี้

รมว.คมนาคม หนุน THAI ซื้อเครื่องบิน 38 ลำ 1.56 แสนลบ. เตรียมเสนอครม.เร็วๆ นี้


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยเห็นว่า โครงการที่พร้อมจะเสนอครม.ได้ก่อน คือ โครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จำนวน 38 ลำ วงเงินลงทุน 156,169 ล้านบาท เนื่องจากได้ผ่านการพิจารณาจาก คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว

ขณะที่ การบินไทยยืนยันว่า เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินการโครงการ โดยการบินไทยเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้และชำระคืนเงินกู้เอง โดยไม่เป็นภาระงบประมาณรัฐบาลแต่อย่างใด โดยได้เน้นย้ำให้ดำเนินการจัดซื้อตามมาตรฐานสากล เพราะต้องการซื้อมาเพื่อแข่งขัน ซึ่ง ตามแผนจะจัดซื้อจากทั้งของบริษัทโบอิ้งและบริษัทแอร์บัส

“ตอนนี้ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ขอตรวจสอบรายละเอียดแผนอีกเล็กน้อย ซึ่งคงไม่นาน น่าจะสรุปเสนอครม.ได้ ส่วนตัวผมไม่ซีเรียส ไม่ติดใจอะไร เพราะเห็นว่าจำเป็นและการบินไทยได้ศึกษาแผนมาดีแล้ว หากไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ทำอะไร การบินไทยก็ไปไม่ไหว” นายศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ แบ่งการจัดหาเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ปี ปี 2562 – 2567 จำนวน 25 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวพิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-375 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ วงเงินลงทุน 71,874 ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรอง 8 เครื่องยนต์ วงเงินลงทุน 6,740 ล้านบาท วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 78,614 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 ปี 2563-2569 จัดหาเครื่องบินแบบ Option Order จำนวน 13 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 77,555 ล้านบาท เพื่อทดแทนการปลดระวางเครื่องบินแบบ A380-800 และ B777-200ER

โดยจัดหา วิธีการเช่าซื้อทั้งหมด 38 ลำ แต่หากไม่สามารถดำเนินการจัดหาด้วยวิธีเช่าซื้อได้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่มีเครื่องบินตามเวลาที่ต้องการ หรือสถานะการเงิน/การแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงจึงจะพิจารณาเช่าดำเนินงานตามความจำเป็น

นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 35.9 กม. และการร่วมลงทุนเอกชนแบบ PPP Net Cost มูลค่ารวม 122,041 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากกรอบวินัยการเงินการคลัง เหลือเพียง 30,000ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับโครงการ ที่ต้องการใช้ 90,000 ล้านบาท โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากในปี 2563 มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เข้ามา

ดังนั้น จึงได้สั่งการให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับปรุงแผนงานโครงการใหม่ เพื่อเสนอครม.ขออนุมัติหลักการไว้ก่อน เพื่อจองกรอบการลงทุนในงบประมาณปี 2564

ส่วนการก่อสร้างยอมรับว่า จะล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มได้ปี 2563 ซึ่งรฟม.จะต้องหาแนวทางในการเร่งรัดการก่อสร้างต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ รฟม.สามารถออกแบบการก่อสร้างโดยพิจารณาดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ มากขึ้น รวมทั้งพิจารณาใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบในวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มากที่สุด

Back to top button