นายกฯ สั่งเพิ่มขนาดไลเซ่นส์ประมูล 4G เป็นใบละ 15 MHz

ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(บอร์ดดีอี) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ปรับเพิ่มขนาดใบอนุญาตให้บริการ 4G จำนวน 2 ใบอนุญาตที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)กำลังเตรียมการเพื่อเปิดประมูลในเดือน พ.ย.58 โดยเห็นว่าควรเพิ่มเป็น 15 MHz จากเดิมกำหนดไว้ที่ 12.5 MHZ


นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(บอร์ดดีอี) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ปรับเพิ่มขนาดใบอนุญาตให้บริการ 4G จำนวน 2 ใบอนุญาตที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)กำลังเตรียมการเพื่อเปิดประมูลในเดือน พ.ย.58 โดยเห็นว่าควรเพิ่มเป็น 15 MHz จากเดิมกำหนดไว้ที่ 12.5 MHZ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มจำนวนใบอนุญาตจากที่กำหนดไว้ 2 ใบอนุญาต แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเข้าประมูลก็ตาม

“ขนาดความถี่ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เร็วขึ้นถึง 10 เท่าตัว จะได้ 4G ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น”นางทรงพร กล่าว

สำหรับขนาดที่เพิ่มขึ้นจะมาจากความถี่ขนาด 5 MHz ที่ กสทช.จะได้รับคืนจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการส่งมอบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้กระทรวงฯ เร่งรัดการจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้แล้วเสร็จเร็วกว่าที่กำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้ โดยแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวจะมุ่งส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนตามนโยบายรัฐบาลและสอดคล้องกับกฎหมายใหม่ อีกทั้ง ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางให้เอกชนร่วมกันเข้ามาลงทุนระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ เพื่อให้มีค่าบริการถูก จากปัจจุบันที่ต่างคนต่างทำจำนวน 4 ราย ทำให้ค่าบริการแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ถึง 300%

รวมทั้ง เห็นชอบให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (National Data Center) ซึ่งนายกฯอยากให้ดำเนินการเสร็จภายใน ต.ค.58 เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดแล้วเสร็จในปลายปีนี้ โดยมีเอกชนให้ความสนใจ 28 ราย แต่เบื้องต้นได้คัดเลือกบริษัทที่มีความพร้อมในการลงทุนเหลือประมาณ 20 ราย และกำลังพิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน

โดยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติจะเป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่ Cloud computing ในอนาคต ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค

Back to top button