“กรมท่าอากาศยาน” โดดขวาง AOT เข้าบริหารสนามบินกระบี่ ชี้เป็นรายได้หลัก ช่วยลดภาระรัฐ
“กรมท่าอากาศยาน” โดดขวาง AOT เข้าบริหารสนามบินกระบี่ ชี้เป็นรายได้หลัก ช่วยลดภาระรัฐ
วันนี้(22ส.ค.62)รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ชี้แจงกรณีการโอนท่าอากาศยานในสังกัด ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเข้าไปบริหารท่าอากาศยาน 4 แห่งของกรมท่าอากาศยาน โดยขอเปลี่ยนจากท่าอากาศยานสกลนครเป็นท่าอากาศยานกระบี่นั้นว่า หาก ครม. มีมติมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ แทน จะทำให้ ทย. ประสบปัญหาการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาในอีก 24 ท่าอากาศยานที่เหลือ
เนื่องจาก ในปัจจุบัน ทย. มีรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่ง ในปี 2561 เป็นเงินจำนวน 852,466,789 บาท โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ในปี 2561 เป็นเงินจำนวน 469,408,760 บาท คิดเป็น 55.05% ประกอบกับท่าอากาศยานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และรัฐบาลได้ให้งบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ไปมากแล้วเพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และการขยายลานจอดอากาศยานซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
อีกทั้งในปีงบประมาณ 2563 กรมท่าอากาศยาน ขอรับงบประมาณในการก่อสร้างทางขับขนานด้วย รวมงบประมาณทั้งสิ้นในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่เป็นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะนำรายได้ที่จัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานโดยรัฐบาลมีแนวโน้มจะลดภาระงบประมาณในส่วนนี้ของ ทย. ลง
โดยที่รายได้จากการดำเนินการของ ทย. รวมทั้งรายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนดให้ ทย. นำรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เช่น จ้างพนักงานให้เพียงพอเนื่องจาก ข้าราชการ และ ลูกจ้างประจำ มีกรอบอัตรากำลังจำกัด การซ่อมบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียงซึ่งมีข้อขัดข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ รายได้ที่เข้าสู่กองทุนจึงเป็นกลไกในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วทันต่อการให้บริการผู้โดยสาร
ประกอบกับขณะนี้ ทย. อยู่ในระหว่างจัดทำโครงสร้างเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐปีละ 1,000 ล้านบาทและใช้สำหรับแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของผู้โดยสารในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ การซ่อมบำรุงล่าช้าและการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสนามบิน
“ทย. จึงไม่เห็นด้วยในการส่งมอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ให้ ทอท. เนื่องจากมีผลกระทบในทางลบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานต่าง ๆ ทั่วประเทศ”