TISCO ESU หั่นเป้า GDP ไทยปีนี้เหลือโต 2.9% เซ่นปัจจัยรุมเร้า-มาตรการกระตุ้นศก.เห็นผลน้อย

TISCO ESU หั่นเป้า GDP ไทยปีนี้เหลือโต 2.9% เซ่นปัจจัยรุมเร้า-มาตรการกระตุ้นศก.เห็นผลน้อย


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 62 จะโตได้เพียง 2.9% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ 3.5% ส่วนในปี 63 มองว่าจะขยายตัวต่ำต่อเนื่องที่ 3.1%

สำหรับการปรับเป้า GDP สะท้อนเศรษฐกิจครึ่งปีแรกโตน้อย และครึ่งปีหลังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ารอบด้านทั้งการลงทุนภาครัฐฯ ล่าช้า ภัยแล้ง การท่องเที่ยวชะลอ และสงครามการค้า ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯ ช่วยหนุนตัวเลขครึ่งปีหลังได้ไม่มาก เพราะต้องพึ่งพิงเงินจากสถาบันการเงินรัฐฯ ค่อนข้างสูง

ด้านนายคมศร ประกอบผล หัวหน้า TISCO ESU เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 62 นั้น ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ไม่เต็มที่นัก เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่ 2.07 แสนล้านบาท เป็นการพึ่งพิงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐฯ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงในการเบิกใช้วงเงิน

ขณะที่เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรงอย่างการให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ และเม็ดเงินกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศ รวมกันจำนวนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีราว 0.2% เท่านั้น ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะหนุนให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้เกิน 3% ตามเป้าหมายของภาครัฐฯ ได้

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการรัฐขยายระยะเวลาเพิ่มอีก 2 เดือน รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้าน 2. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยช่วยลดดอกเบี้ยรวมถึงขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย, มาตรการปล่อยสินเชื่อ และโครงการช่วยเหลือเงินต้นทุนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี และ 3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

โดยสนับสนุนการบริโภคผ่านเงินช่วยเหลือการท่องเที่ยวในประเทศ, ส่งเสริมการลงทุนผ่านการลดภาษีใช้จ่ายซื้อเครื่องจักร, สนับสนุน SMEs ผ่านการให้สินเชื่อจากกองทุน และสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อบ้าน

“จะสังเกตได้ว่ามาตรการส่วนใหญ่จะใช้เม็ดเงินมาจากสถาบันการเงินของรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อ และการลดดอกเบี้ยนั้น สถาบันการเงินต่างๆ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น อาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าเงินจะเข้าสู่ระบบ และมีความไม่แน่นอนสูงในการเบิกใช้วงเงิน” นายคมศร กล่าว

ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปี TISCO ESU คาดว่า GDP ของไทยจะขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ซึ่งแม้จะดูดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.6% YOY แต่การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงปลายปีที่แล้ว ประกอบกับโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจยังนับว่าอ่อนแอลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งถูกกดดันจากสงครามการค้า รวมทั้งความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง การอนุมัติงบประมาณล่าช้า และการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว

Back to top button