“ฟิทช์”ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต TMB เป็นบวก-คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตปท.ที่ ‘BBB-‘
“ฟิทช์”ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต TMB เป็นบวก-คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตปท.ที่ 'BBB-'
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็นแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก จากเดิมแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอับดับเครดิตดังกล่าวที่ ‘BBB-‘ และ ‘AA-(tha)’ ตามลำดับ พร้อมกันนี้ ฟิทช์ยังให้เครดิตพินิจเป็นบวก (Rating Watch Positive) แก่อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของ TMB สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
การประกาศอันดับเครดิตเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศยืนยันการควบรวมกิจการ (merger) ระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 และธุรกรรมดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2562
ตามแผนการควบรวมกิจการ TMB จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ TBANK จากผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะคิดเป็นมูลค่าเงินสดของธุรกรรมที่ประมาณ 130 พันล้านบาท โดย TMB คาดว่าเม็ดเงินประมาณ 106.5 พันล้านบาท (หรือประมาณ 80% มูลค่าธุรกรรม) จะเป็นการระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งหรือประมาณ 42.5 พันล้านบาทจะเป็นการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังระบุให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TBANK จะต้องนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นใน TBANK ส่วนหนึ่งกลับมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB ในมูลค่าประมาณ 57.6 พันล้านบาท และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% ของมูลค่าธุรกรรม TMB จะทำการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1))
ผู้ถือหุ้นของ TMB 3 รายใหญ่หลังจากการควบรวมกิจการจะประกอบด้วย ING Bank N.V. (‘AA-‘/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งจะถือหุ้นในสัดส่วน 21.3% ในขณะที่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) จะถือหุ้นในสัดส่วน 20.4% และ กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในสัดส่วน 18.4% ทั้งนี้กระบวนการรวมธุรกิจและการดำเนินงาน (integration) จะเริ่มขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2562 และการโอนและรับโอนกิจการทั้งหมด (entire business transfer) น่าจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564
TMB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทยในด้านเงินฝาก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5% ณ สิ้นปี 2561 ในขณะที่ TBANK เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอับดับที่ 6 ในด้านเงินฝากโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 6% แม้ว่าหลังจากการควบรวมกิจการ TMB จะมีสถานะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 แต่ฟิทช์คาดว่าทางการน่าจะพิจารณาว่า TMB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ (systemic importance)
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากล อันเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TMB มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (หรือ Viability Rating) ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก สอดคล้องกับมุมมองของฟิทช์ว่าการควบรวมกิจการน่าจะส่งผลให้โครงสร้างทางเครดิตของ TMB ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (company profile) ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
แม้ว่าธนาคารจะมีความเสี่ยงจากการดำเนิน (execution risk) การควบรวมกิจการ แต่ฟิทช์คาดความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างจำกัด เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่าทั้ง TMB และ TBANK มีความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับที่ใกล้เคียงกัน และมีลักษณะธุรกิจที่ค่อนข้างส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกมีปัจจัยพิจาณาจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าแนวโน้มของโครงสร้างเครดิต (credit profile) ของ TMB ที่จะมีการพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (company profile) และการระดมทุน (funding) โดยTMB จะมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมีรูปแบบธุรกิจที่มีการกระจายตัวมากขึ้น (diversification) หลังจากการควบรวมกิจการ
อีกทั้ง TBANK มีความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมฐานลูกค้าปัจจุบันของ TMB นอกจากนี้ด้วยขนาดเงินฝากที่ใหญ่ขึ้นและฐานลูกค้าเงินฝากที่มีการกระจายตัวมากขึ้น น่าจะช่วยให้ TMB มีโครงสร้างการระดมทุนที่มั่นคงมากขึ้นในระยะปานกลาง และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและเป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
ฟิทช์ยังคาดว่าการควบรวมกิจการน่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกแก่ปัจจัยเครดิตด้านอื่นของ TMB ด้วย เช่นด้านระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ด้านคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งด้านรายได้และอัตรากำไร แต่อย่างไรก็ตามอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อจะให้มีความแน่นอนมากขึ้นว่าผลกระทบต่อปัจจัยดังกล่าวจะมีนัยสำคัญเพียงใด
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor)
เครดิตพินิจเป็นบวกสำหรับอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB สะท้อนถึงโอกาสที่อันดับเครดิตดังกล่าวอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจาก TMB จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศไทยหลังจากการควบรวมกิจการ โดยธนาคารจะมีสินทรัพย์และเงินฝากที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและขยับเข้ามาใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศที่ฟิทช์เชื่อว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ ทั้งนี้ฟิทช์มองว่าปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ทางการบังคับใช้เกณฑ์เงินกองทุนขั้นต่ำที่สูงขึ้นและมีความระมัดระวังมากขึ้นกับธนาคาร เพื่อลดความเสี่ยงที่ธนาคารจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (failure) แต่ในขณะเดียวกันฟิทช์ก็มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้โอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ TMB ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในกรณีที่มีความจำเป็น
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ TMB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss-severity risks) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ และไม่ได้มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ของ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากฟิทช์เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นซึ่งแสดงว่า TMB มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและมีรูปแบบธุรกิจ (business model) ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการที่ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้ฐานะทางการเงินโดยรวมของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลางถึงระยะยาว ทั้งนี้กรณีดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากการรวมธุรกิจและระบบงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการที่ธนาคารไม่ผ่อนปรนมาตรฐานความเสี่ยงสินเชื่อเพื่อช่วยให้มีผลกำไรดีขึ้น ภายใต้ภาวะที่สินเชื่อในตลาดมีอัตราการเติบโตต่ำแต่ยังคงมีการแข่งขันสูง ในมุมมองของฟิทช์เชื่อว่าการปรับตัวดีขึ้นของโครงสร้างธุรกิจของธนาคารน่าจะสะท้อนในความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น และจะส่งผลให้ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นรากฐานสำคัญต่อผลประกอบการและฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวดีขึ้น เช่นในด้านรายได้และด้านการระดมทุน
แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็น “แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ” ได้ หากฟิทช์เชื่อว่าการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TMB ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะปานกลาง โดยตัวอย่างของกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากธนาคารไม่สามารถบริหารจัดการการรวมธุรกิจและระบบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากความซับซ้อนและความท้าทายในด้านการดำเนินงานและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ธนาคาร ทั้งนี้รวมถึงการที่ธนาคารไม่สามารถมีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่ดีพอแม้จะได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการและเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB หลังจากการควบรวมกิจการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผน และได้รับการเห็นชอบในด้านเกณฑ์ กฎหมาย และกฎระเบียบของการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังต่อไปนี้:TMB:
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิต ที่ ‘BBB-‘; ปรับ “แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก” จาก “แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ”
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิต ที่ ‘F3’
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิต ที่ ‘bbb-‘
อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’; เครดิตพินิจเป็นบวก
อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BB+’; เครดิตพินิจเป็นบวก
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิต ที่ ‘AA-(tha)’; “แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก” จาก “แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ”
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิต ที่ ‘F1+(tha)’
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของโครงการหุ้นกู้ Euro Medium-Term Note มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิต ที่ ‘BBB-‘
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิต ที่ ‘BBB-‘
อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับเครดิต ที่ ‘A+(tha)’