CPF เผยทุกโรงงานเน้นการบริหารจัดการน้ำตลอดกระบวนการผลิตสินค้า
CPF เผยทุกโรงงานเน้นการบริหารจัดการน้ำตลอดกระบวนการผลิตสินค้า
นายสุชาติ สิทธิชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจโรงงานอาหารแปรรูปเนื้อไก่ โคราช บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรน้ำมาโดยตลอดและเล็งเห็นถึงวิกฤติทรัพยากรน้ำที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยการผลิต โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปอาหารและโรงงานอาหารสำเร็จรูปทุกแห่ง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำอย่างจริงจัง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเรื่องน้ำอัน
เนื่องจากกระบวนการผลิต โดยบริษัทฯ ได้นำหลัก 4Rs ได้แก่ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการฟื้นฟูหรือหาทางเลือกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเดิม (Replenish) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและการดำเนินงาน และมีการบริหารเชิงบูรณาการทั้งในด้านน้ำ พลังงาน อากาศ และของเสีย
ด้วยตระหนักว่าน้ำมีคุณค่ามหาศาล ทุกโรงงานผลิตของบริษัทฯ มีแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสมในทุกขั้นตอนการผลิต มีการดำเนินการตามแผนอย่างจริงจัง โดยบันทึกปริมาณการใช้น้ำของแต่ละกระบวนการผลิตอย่างละเอียด เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์หาจุดที่ใช้น้ำมาก เพื่อนำปรับปรุงกระบวนการ หรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้มั่นใจว่าแต่ละโรงงานมีการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณการนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด เพื่อลดการใช้น้ำดิบ และโรงงานมีการรณรงค์การประหยัดน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อกระตุ้นให้พนักงานทุกคนร่วมกันประหยัดน้ำเป็นการตอบรับกับนโยบายของภาครัฐอีกด้วย
โรงงานแปรรูปอาหารของซีพีเอฟทั้ง 6 แห่งยังมีการบูรณาการการจัดการน้ำร่วมกับการบริหารจัดการพลังงานเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาโครงการ Waste Water Biogas Capture and Utilization ขึ้น เป็นการนำน้ำที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียจากที่เป็นระบบบ่อหมักไร้อากาศแบบเปิด ให้เป็นระบบบ่อหมักไร้อากาศแบบปิด นอกจากจะช่วยบำบัดน้ำเสียแล้ว โรงงานยังได้ก๊าซมีเทนที่เกิดจากกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งโรงงานสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตา และพลังงาน LPG ของหม้อไอน้ำ (Steam Boiler) อีกด้วย
นายอนันต์ วงศ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า สำหรับโรงงานแปรรูปสุกรแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและการประหยัดน้ำมาโดยตลอด แม้ว่าในในโรงงานจะใช้น้ำไม่มากอยู่แล้ว เพราะไม่ใช้น้ำในกระบวนการผลิต ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาล้างทำความสะอาดพื้นและสายพานการผลิตเท่านั้น ขณะเดียวกัน ยังนำน้ำหลังการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ ทั้งในการล้างพื้นถนน ล้างรถ และรดน้ำต้นไม้ ทดแทนการใช้น้ำประปา รวมถึงกำลังต่อยอดโครงการอนุรักษณ์น้ำด้วยการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดนี้ไปใช้ในห้องน้ำของโรงงานอีกด้วย
นายไพระพงศ์ เฉลียวศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า โรงงานแปรรูปกุ้ง ที่โรงงานอาหารสำเร็จรูปแกลงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยดำเนินโครงการลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต เช่น การนำน้ำที่ใช้ที่จุดรับกุ้งมากรองและใช้ซ้ำอีกครั้งก่อนที่จะส่งไประบบบำบัด การปรับปรุงและแก้ไขจุดรั่วไหลของน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตให้น้อยลง และโรงงานกำลังศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์จากน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อลดปริมาณการปล่อยน้ำออกสู่ธรรมชาติให้เหลือศูนย์ (Zero Discharge) โดยนำน้ำมาใช้กับระบบระบายอากาศของโรงงาน ใช้รดน้ำต้นไม้ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังนำ ก๊าซมีเทนที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียมาใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเตา หรือ LPG เช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการดำเนินการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว โดยได้ริเริ่มโครงการนำร่อง “วอร์เตอร์ฟุตพริ้นต์” ของผลิตภัณฑ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรน้ำของบริษัทฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดกระบวนการผลิต โดยมีโรงงานเข้าร่วมโครงการนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 2 โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำแกลง และโรงคัดไข่นครหลวง ซึ่งโรงงานนำร่องได้จัดเก็บและประเมินข้อมูลการใช้น้ำตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ 3 ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่ Roasted Chicken Strip เกี๊ยวกุ้งซีพี และไข่สด เพื่อประเมินข้อมูลการใช้น้ำ โดยเริ่มตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งบริษัทฯ มองว่าโครงการวอร์เตอร์ฟุตพริ้นต์เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดการคิดค้น วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาหาวิธีการลดปริมาณการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำในระยะยาวต่อไป