สบช่องซื้อ SCB-BBL ช่วง “ราคาอ่อนตัว” โบรกฯชี้สะท้อนปัจจัยลบมากแล้ว-กำไรปี 62 ยังโตเด่น
สบช่องซื้อ SCB-BBL ช่วง "ราคาอ่อนตัว" โบรกฯชี้สะท้อนปัจจัยลบมากแล้ว-กำไรปี 62 ยังโตเด่น
บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับกรณีราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลงในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยลบที่เข้ามากดดัน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยขาลง และยังเป็นผลจากบริษัทประกันชีวิตที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นใหญ่อยู่ อาจประสบปัญหาผลประกอบการขาดทุนในช่วงไตรมาส 3/62 และยาวถึงไตรมาส 4/62
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่มีลูกเป็นบริษัทประกันจะต้องบันทึกขาดทุนของบริษัทลูกในไตรมาสนั้นๆ ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้กำไรออกมาต่ำกว่าคาดได้ โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาที่ปรับตัวลงมาของกลุ่มธนาคารพาณิชน์น่าจะสะท้อนข่าวลบไปพอสมควร จึงแนะนำให้ “ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว” ในธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยอย่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ซึ่งถือ BLA เพียง 7.6% และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ซึ่งอยู่ระหว่างขาย SCB Life ออกไปทั้งหมด ซึ่งมีกำไรก้อนโตเกินพอที่จะรองรับขาดทุนดังกล่าวและทำให้กำไรปี 62 ยังเติบโตได้สูง
โดยหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ฉบับวันอังคารที่ 10 กันยายน 2562 ได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว หลังราคาหุ้น SCB ปิดตลาดวานนี้ (9 ก.ย.) ลดลง 0.50 บาท มาที่ 115.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,692.55 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 3 ปี 8 เดือน และราคาหุ้นยังลงมาต่ำกว่ามูลค่าบัญชีซึ่งอยู่ที่ 116.12 บาท นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนเงินปันผลหรือดิวิเดนด์ยีลด์ยังได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.76% ขณะที่ P/E เหลือเพียง 10 เท่า และ P/BV อยู่ที่ 1 เท่า
ด้านนางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (โดยเฉพาะแบงก์ที่มีบริษัทประกันในเครือ) ปรับลดลงจากภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตในไตรมาส 3/62 ไม่ดีนักเพราะบอนด์ยีลด์ (ผลตอบแทนพันธบัตร) ในระยะกลาง-ยาว ปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 2/2562 ดังนั้น เมื่อบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงมากธุรกิจประกันชีวิตก็จะต้องมีการ “ตั้งสำรองเบี้ย” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558
ทั้งนี้ แบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB ในฐานะบริษัทแม่ของ บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SCBLIFE ซึ่งในไตรมาส 3/2562 ก็ยังถือหุ้น SCBLIFE อยู่ เพราะขายออกไปไม่ทัน จึงต้อง “บันทึกในงบการเงิน” และมีโอกาสที่จะต้องรับรู้ “ผลขาดทุน” เข้ามาในงบการเงินรวมด้วย แต่อย่างไรก็ดี การขาย SCBLIFE จะดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2562 จึงอาจได้รับผลกระทบแค่ในช่วงไตรมาสนี้
“ตอนนี้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันชีวิตอยู่ระหว่างเข้าไปคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ว่าจะช่วยลดผลกระทบได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะกระทบทางอุตสาหกรรมประกันชีวิตโดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิตอันดับต้น ๆ ซึ่งในปี 2558 ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นและบริษัทประกันชีวิตได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งถ้าทำได้แบบเดิมก็จะดีมาก” นางสาวอุษณีย์ กล่าว
บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์สะท้อนปัจจัยลบไปในระดับหนึ่งแล้ว จากราคาหุ้นปรับตัวลงและ Underperform ตลาดถึง 15% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยปรับลงอย่างจริงจังในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ลดลง 12%)
โดยหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคารคือ SCB เพราะมีอัพไซด์เพิ่มเติมจากการขาย SCBLIFE ซึ่งมีโอกาสนำเงินที่ได้ไปลงทุนเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีอัพไซด์จาก Reverse สำรองฯ กลับ เนื่องจากมาตรฐานบัญชีใหม่ หรือ TFRS 9 จะไม่ให้กลุ่มธนาคารมีการตั้งสำรองส่วนเกิน (General Reserve) ที่มากเกินไป ซึ่งจะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 ขณะที่ปัจจุบันแต่ละธนาคารมี General Reserve อยู่จำนวนมาก หาก TFRS 9 ไม่อนุญาตให้เหลือ General Reserve ไว้ ทำให้เราคาดว่า มีโอกาสที่ทุกธนาคารจะมีการ Reverse สำรองฯ กลับในอนาคตได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือระหว่างธนาคารประเทศไทยกับสภาวิชาชีพบัญชี น่าจะเห็นข้อสรุปได้ภายในไตรมาสที่ 3 นี้
สำหรับภาพรวมของกลุ่มธนาคารในปัจจุบันลงมาซื้อขายที่ต่ำกว่าช่วง Hamburger crisis ปี 2551 ที่ย้อนหลัง 5 ปี สะท้อน average ROE ที่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 9.5% เทียบกับปี 2551 ที่สูงถึง 12.0%