รมว.คมนาคม สั่ง AOT เปิดฟังความเห็นปมก่อสร้าง Terminal 2 ขีดเส้นกลุ่มCPตอบกลับรฟท.19 ก.ย.
รมว.คมนาคม สั่ง AOT เปิดฟังความเห็นปมก่อสร้าง Terminal 2 ขีดเส้นกลุ่มCPตอบกลับรฟท.19 ก.ย.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ว่า ได้เรียกผู้บริหาร AOT และให้สั่งการให้รีบเปิดรับฟังความคิดเห็น และชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นได้ โดยพูดจาอย่างเปิดเผยชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อให้โครงการโปร่งใส มีธรรมาภิบาล แต่หากได้ชี้แจงแล้วบางกลุ่มยังไม่เห็นด้วยก็ต้องตัดสินใจ โดยได้ชี้แจงให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ต้องปรับจากแผนแม่บทพัฒนาโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งได้มีการปรับทุก 5 ปีให้ทันสถานการณ์และเป็นไปตามเกณฑ์ขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หากยังยึดตามแผนแม่บท จะเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก
ประกอบกับ ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารเกินกว่าที่รองรับได้ (over capacity) ที่ 63 ล้านคน/ปี จากที่มีความสามารถรองรับ 45 ล้านคน/ปี จึงจำเป็นต้องดำเนินการ ขณะเดียวกันท่าอากาศยานดอนเมือง ก็ over capacity เช่นกัน ดังนั้น ทั้งสองสนามบินจะต้องขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 150 ล้านคน/ปี รวมทั้ง เพื่อให้สอดคล้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งออกของประเทศด้วย
โดยระหว่างนี้จะใช้ศักยภาพของสนามบินภูมิภาคที่อยุ่ภายใต้การบริหารของกรม่ท่าอากาศยาน (ทย.) โอนมาให้ AOT เข้าบริหาร เพื่อลดภาระความแออัของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง โดยยังพิจารณาว่าจะโอนให้บริหารทั้งหมด หรือให้ AOT เข้าบริหารแต่สิทธิเจ้าของทรัพย์สินเป็นของทย.
“ถ้าเราไม่พิจารณาตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แล้วสุดท้ายกระทบความสามารถรองรับผู้โดยสารลดลงไปอีก อะไรจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของเรา” รมว.คมนาคม กล่าวกับ”อินโฟเควสท์”
พร้อมแนะให้ AOT นำเทคโนโลยี หรือ ไอที เช้ามาช่วยการบริการผู้โดยสาร ไม่ให้เกิดคอขวดทั้งขาเข้าและขาออก โดยยกตัวอย่างสนามบินนาริตะ เป็นตัวอย่าง
ขณะนี้ได้รับรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่คณะกรรมการคัดเลือก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ให้เวลา 7 วัน แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลพิจารณารายละเอียดข้อความในร่างสัญญา รวมถึงส่วนแนบท้ายสัญญาก่อนจะลงนามสัญญาร่วมกัน
โดยวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่กลุ่มซีพีจะต้องตอบกลับมา ไม่เช่นนั้นจะมอบหมายให้ รฟท.เรียกเอกชนรายที่ 2 มาเจรจาแน เพราะไม่ต้องการให้โครงการล่าช้ามากไปกว่านี้แล้ว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมยืนยันโครงการ โดยที่ผ่านมาที่ล่าช้าเพราะติดกรอบวินัยการเงินการคลัง อย่างไรก็ตาม หากยังไม่ผ่าน ก็จะนำกลับมาแบ่งการดำเนินโครงการเป็นเฟส 1 และ เฟส 2 เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้ไม่ล่าช้า เพราะการก่อสร้างต้องใช้ระยะเวลานาน 6-7 ปี หากยิ่งทำได้เร็วจะทำให้ระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการนี้จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ เพราะทั้งนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดโครงการนี้มาแล้ว