AOT เตรียมทำแบบร่างชงครม.พัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะ 3 เชื่อแล้วเสร็จพร้อมเปิดประมูลใน 1 ปี
AOT เตรียมทำแบบร่างชงครม.พัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะ 3 เชื่อแล้วเสร็จพร้อมเปิดประมูลใน 1 ปี
เรืออากาศโท สัมพันธ์ ขุนทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง สายปฎิบัติการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุนประมาณ 3.8-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 66 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมทำแบบร่าง และยื่นขออนุมัติกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหากมีการอนุมัติ บริษัทจะเดินหน้าออกแบบรายละเอียด คาดว่าไม่เกิน 1 ปี จะสามารถดำเนินการเสร็จ หลังจากนั้นจะเปิดประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง หรือหาผู้รับเหมา
“ตอนนี้แผนผ่านบอร์ดทอท.เรียบร้อยแล้ว โดยเรื่องขณะนี้ก็อยู่ที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งก็รอเข้าครม. โดยหากครม. มีการอนุมัติ สิ่งที่จะทำเป็นอันดับแรก คือ การรื้อถอนอาคารเดิม เพราะพื้นที่อาคารเทอร์มินอล 3 อยู่ในอาคารภายในประเทศหลังเก่า และรื้อถอนอาคารจอดรถ 3 ชั้น เพื่อเตรียมพื้นที่ในการก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 63 และน่าจะใช้ระยะเวลาในการรื้อถอนดังกล่าวประมาณ 1 ปี โดยการรื้อถอนจะเป็นลักษณะของการประมูลขายซากตึก ซึ่งจะเป็นการคืนเงินให้กับทางทอท.ด้วย อย่างไรก็ตามจะทำคู่ขนานไปกับการออกแบบ ขณะที่ภายหลังจากที่มีอาคาร 3 แล้ว บริษัทก็มีแผนที่จะปิดปรับปรุงอาคาร 1 เพื่อให้อยู่ในสภาพคล้ายกับอาคาร 2” เรืออากาศโท สัมพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาการทำโมโนเรล ที่จะใช้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อมเข้าสู่ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจะสามารถสรุปความชัดเจนได้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจะเห็นเป็นรูปธรรม คือ การประสานกับทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อนำรถไปให้บริการผู้โดยสาร ไม่ว่าจะอยู่ที่สะพานใหม่ หรือ แยกคปอ. เข้ามาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งจะช่วยในการสำรวจความต้องการของผู้โดยสารด้วย โดยปัจจุบันบริษัทก็มีการเจรจากับทางขสมก. ในแนวคิดเบื้องต้นแล้ว
ขณะเดียวกันก็เตรียมก่อสร้างอาคาร JUNCTION TERMINAL ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดง และทำสกายวอล์ค เชื่อมเข้าท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารอีกด้วย
สำหรับท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 ที่จะมีการพัฒนาแล้วเสร็จในปี 66 โดยภายใน 4 ปีนี้ บริษัทจะจัดการกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น หรือผ่อนคลายความแออัด ในการบริหารจัดการพื้นที่ หรือใช้พื้นที่ที่อยู่อาคาร 2 ในช่วงเวลากลางคืน (20.00-21.00 น.) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารน้อย กลับมาใช้เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยที่ผ่า นมาบริษัท ก็มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว ในส่วนของเคาร์เตอร์เช็คอิน เนื่องจากในช่วง 23.55 น.จะมีทั้งหมด 3 เที่ยวบิน ที่เดินทางไปญี่ปุ่นพร้อมกัน ก็ได้มีการใช้เคาน์เตอร์เช็คอินที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (อาคาร 2) รวมถึงสะพานเทียบเครื่องบิน เป็นต้น
อีกทั้งยังมีการเพิ่มพื้นที่ หรือกระจายจุดที่แออัด เช่น การกระจายจุดเอ็กซ์เรย์, การย้าย Vat Refund จากปัจจุบันที่อยู่ตรงจุดเอ็กซ์เรย์ และในด้านผู้โดยสารขาเข้า ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องของคิวทำ Visa on Arrival ยาว ก็เตรียมย้ายไปอยู่ตรงด้านทิศเหนือ จากเดิมที่อยู่ทางทิศใต้ของอาคาร 1 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงของการประมูลงาน คาดว่าปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
“เราจะพยายามกระจายความหนาแน่น และ Utilize พื้นที่ต่าง ๆ สลับทั้ง Domestic สลับทั้ง International”
สำหรับสัดส่วนผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) ปัจจุบันเริ่มทรงตัวแล้ว แต่ผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) กลับเพิ่มขึ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 45% จากเดิมอยู่ที่ 37% ส่งผลให้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ โดยกลับมามุ่งเน้น Internationalมากขึ้น ซึ่งจากแผนเดิมการก่อสร้างเทอร์มินอล 3 จะรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และจะมีการปรับเทอร์มินอล 1 ที่ปัจจุบันเป็นมาInternational เป็น Domestic ซึ่งจะทำให้มี Domestic ทั้งเทอร์มินอล 1 และ 2 โดยจะมีการทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งจะต้องทำให้เทอร์มินอล 2 สามารถรองรับได้ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามคาดจำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองปีนี้จะอยู่ที่ 40 ล้านคน หรือคิดเป็นการเติบโต 1-2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการเทอร์มินอล 3 แล้วจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 45 ล้านคน/ปี
ส่วนการเดินทางมาศึกษาดูงานที่ท่าอากาศยานดานัง ประเทศเวียดนาม บริษัทยอมรับว่าทางประเทศเวียดนามมีการก่อสร้างท่าอากาศยานรวดเร็วกว่าที่ประเทศไทย ซึ่งบริษัทจะนำแนวคิด หรือรูปแบบการดำเนินการก่อสร้างไปปรับปรุง โดยทางเวียดนามมีกระบวนการก่อสร้าง ประมาณ 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง
ด้านทางผู้บริหารท่าอากาศยานดานัง ประเทศเวียดนามร่วมกันให้ข้อมูล ว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานดานัง มีจำนวนทั้งสิ้น 2 เทอร์มินอล และมีแผนก่อสร้างเทอร์มินอล 3 เพิ่มเติมอีก คาดว่าจะสามารถลงทุนได้ภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผน คาดว่าจะสามารถเปิด TOR ได้ปลายปีนี้ โดยมีเป้าหมายรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 15 ล้านคน/ปี และสามารถรองรับได้เต็มคาพาซิตี้ที่ 22.5 ล้านคน/ปี และรองรับสินค้า 1 แสนตัน/ปี ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมด 3 เทอร์มินอล จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45-50 ล้านคน/ปี
ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาในประเทศเวียดนามคิดเป็น 18 ล้านคน และเข้ามาที่ดานังคิดเป็น 8.6 ล้านคน แบ่งเป็น คนไทย 2 แสนคน โดยคาดสิ้นปีนี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 20 ล้านคน จากปีก่อนอยู่ที่ 14 ล้านคน