บอร์ด PRIME ไฟเขียวลดพาร์ล้างขาดทุนสะสม จ่อทุ่ม 1.53 พันลบ. ลุยโซลาร์ฟาร์มกัมพูชา
บอร์ด PRIME ไฟเขียวลดพาร์เหลือหุ้นละ 0.50 บาท ล้างขาดทุนสะสม จ่อทุ่ม 1.53 พันลบ. ลุยโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิต 60 MW ในกัมพูชา
บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) มีมติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติให้บริษัท ไพร์ม โรด อัลเทอร์เนทีฟ จำกัด (PRA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาด 60 เมกกะวัตต์ (MW) จังหวังกาปงชนัง ประเทศกัมพูชา และเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว, สัญญาเช่าพื้นที่โครงการ และสัญญาพัฒนาโครงการ เรียกโดยรวมว่า สัญญาโครงการฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะรับสิทธิในการพัฒนาโครงการ ก่อสร้าง และดำเนินงาน ตามขั้นตอนของการพัฒนาโครงการตามเงื่อนไขของการไฟฟ้าแห่งประเทศกัมพูชา (เจ้าของโครงการฯ)
โดยการลงทุนดังกล่าว มีมูลค่าโครงการ 1,525.96 ล้านบาท หรือราว 49.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างโครงการฯจำนวน 1,429,74 ล้านบาท หรือ 46.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้รวมค่าเช่าที่ดินไว้แล้ว , ต้นทุนทางการเงินระหว่างช่วงก่อสร้าง จำนวน 10.58 ล้านบาท หรือ 0.35 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการจำนวน 85.64 ล้านบาท หรือ 2.80 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ PRA ได้ร่วมการประกวดราคาสิทธิในการพัฒนา ก่อสร้างและดำเนินงานในโครงการฯ และได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าของโครงการฯ ว่าเป็นผู้ประกวดราคาที่เสนอราคาต่ำที่สุด โดยจะได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการหลังจากการประกาศผลอย่างเป็นทางการและทำสัญญากับเจ้าของโครงการฯ โดย PRA คาดว่าจะเข้ารับหนังสือแจ้งให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจากเจ้าของโครงการฯ และทำสัญญาโครงการกับเจ้าของโครงการฯ พร้อมกับกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน (Ministry of Mines and Energy) ที่เป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาลประเทศกัมพูชาภายในไตรมาสที่ 4/62
ขณะที่ PRA จะจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศกัมพูชา โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า 99.8% เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดหาใบอนุญาตตามเงื่อนการพัฒนาโครงการ เปิดการประกวดราคาสำหรับสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการฯ และสามารถลงนามในสัญญากู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างโครงการในรูปแบบ Project Finance ได้ภายในไตรมาส 2/63 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และทดสอบระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อให้ขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 4/64 ให้กับการไฟฟ้าแห่งประเทศกัมพูชา ตลอดระยะเวลา 20 ปี
สำหรับเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากส่วนทุน 30% จะมาจากเงินหมุนเวียนที่มีอยู่ในบริษัท ส่วนอีก 70% จะมาจากเงินกู้โครงการในรูปแบบ Project Finance ซึ่งบริษัทจะเข้าทำสัญญาเงินกู้โครงการกับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง โดยมีวงเงินสินเชื่อสำหรับก่อสร้างโครงการเท่ากับ 1,068.17 ล้านบาท หรือ 34.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าโครงการจะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Project IRR) ประมาณ 8.3% ตลอดระยะเวลา 20 ปีของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่าการลงทุนครั้งนี้ จะสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่กลุ่มบริษัทได้อย่างครบวงจร ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันและมีโอกาสจะขยายฐานการค้าไปที่อื่นได้อีกในอนาคต ตลอดจนเพิ่มรายได้และผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องให้แก่กลุ่มบริษัท จึงเป็นการสร้างความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจระยะยาว และเสริมความแข็งแกร่งในด้านการเงินของกิจการ ตลอดจนเปิดโอกาสในการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศกัมพูชาที่มีความต้องการการลงทุนเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ อีกทั้งยังลดปริมาณการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท ยังอนุมัติการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จากเดิมมูลค่าหุ้นละ 1 บาท เป็นมูลค่าหุ้นละ 2 บาท โดยทำให้ทุนจดทะเบียนยังคงเดิมที่ 25,514,280,600 บาท และมีจำนวนหุ้นสามัญเปลี่ยนแปลงเป็น 12,757,140,300 หุ้น หลังจากนั้นให้ลดทุนจดทะเบียน ด้วยการลดพาร์เหลือหุ้นละ 0.50 บาท เพื่อชดเชยขาดทุนสะสมจำนวน 2,165,616,000 และ ส่วนต่ำมูลค่าหุ้นจำนวน 10,863,481,000 บาท โดยภายหลังการลดทุน บริษัทจะคงเหลือผลขาดทุนสะสมจำนวน 265,641,160 บาท
โดยหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้บริษัทจะมีทุนจดทะเบียน 6,378,570,150 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 4,254,485,439 บาท โดยบริษัทกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว