“กสิกรไทย” เล็งหั่น GDP ปีนี้เหลือโต 2.7-2.9% เหตุศก.โลกฉุดส่งออกติดลบ-บาทแข็งค่า

“กสิกรไทย” เล็งหั่น GDP ปีนี้เหลือโต 2.7-2.9% เหตุศก.โลกฉุดส่งออกติดลบ-บาทแข็งค่า


นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 62 ลดลงมาที่ 2.7-2.9% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 3.1%

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยังมีความยืดเยื้อ กดดันภาคการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวอย่างมาก โดยการส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีติดลบไปแล้วถึง 2% ธนาคารจึงปรับลดมุมมองการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัว จากเดิมที่คาดว่าจะทรงตัว หรือมีอัตราเติบโตเป็น 0%

ขณะเดียวกัน พบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลง เห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเหลือ 1.38% จากเดิม 2% ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.5% แซงหน้าประเทศไทย ทำให้ภาคการส่งออกไทยต้องเผชิญกับความท้าทาย ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกด้วย

นายกอบสิทธิ์ ระบุว่า ในปีนี้ธนาคารฯ คาดว่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะไม่แข็งค่าไปมากกว่า 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยธนาคารมองว่าการใช้นโยบายทางการเงินในการเข้ามาช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบันเริ่มมีข้อจำกัดและเริ่มใช้ไม่ได้ผล เห็นได้จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทก็ปรับอ่อนค่าได้เพียงช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็กลับมาแข็งค่าเหมือนเดิม

สำหรับการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินทุนต่างชาติยังมีอยู่ในระบบมาก โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรที่มีการโยกเงินจากพันธบัตรระยะสั้นมาที่พันธบัตรระยะยาวแทน

ส่วนการบริโภคในประเทศ มองว่าจะเห็นการเติบโตขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รับอานิสงส์มาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” ที่จะเป็นการช่วยการกระตุ้นบริโภคระยะสั้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยช่วงไตรมาส 4/62 ฟื้นตัวขึ้น และช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น โดยธนาคารฯ จะมีการปรับเพิ่มตัวเลขการบริโภคในประเทศจากเดิมที่คาดว่าเติบโต 3-4%

ขณะที่การลงทุนในช่วงที่ความผันผวนมีมากขึ้นและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่ำลงนั้น เชื่อว่าจะเห็นการมองหาการลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงมากขึ้นในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งการลงทุนในหุ้นที่ให้เงินปันผลที่ดี ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่จะเห็นนักลงทุนเริ่มมองหามากขึ้นเพื่อเข้ามาทดแทนการลงทุนในตลาดพันธบัตร              –

Back to top button