ปลัดพลังงาน เร่งเจรจาสรุปค่ารื้อถอนแท่นผลิตบงกช-เอราวัณ ไม่ให้กระทบส่งมอบพื้นที่รายใหม่
ปลัดพลังงาน เร่งเจรจาสรุปค่ารื้อถอนแท่นผลิตบงกช-เอราวัณ ไม่ให้กระทบส่งมอบพื้นที่รายใหม่
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เริ่มกระบวนการเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65 และ 66 กับผู้ที่ได้รับสัมปทานในปัจจุบัน เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานและให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้นำไปสู่กระบวนการยื่นอนุญาโตตุลาการในการตัดสิน และไม่ให้กระทบกับการส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้ชนะประมูลรายใหม่ของทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว
โดยเบื้องต้นกลุ่มเชฟรอน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณ และโททาล ผู้ร่วมทุนในแหล่งบงกช รวมถึงกลุ่มโมเอโกะ ผู้ร่วมทุนในแหล่งเอราวัณ ได้ระงับการฟ้องร้องต่อนุญาโตตุลาการชั่วคราวเพื่อเข้าสู่โต๊ะเจรจากับภาครัฐ และได้ยื่นข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมเข้ามาแล้ว แต่หากผลเจรจาล้มเหลวก็อาจต้องกลับไปสู่การฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการใหม่
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ระงับการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อมาเริ่มต้นเจรจาการชำระค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งเชื่อว่าการเจรจาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบพื้นที่แหล่งเอราวัณให้กับผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมรายใหม่
ขณะที่นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือถึงผู้ถือหุ้นในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 เพื่อให้มาวางหลักประกันการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมภายใน 120 วัน หลังจากได้รับหนังสือ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ต.ค.62 โดยแหล่งเอราวัณมีค่าประมาณการใช้จ่ายรื้อถอนประมาณ 200 แท่น คิดเป็นมูลค่าราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแหล่งบงกช ประมาณ 100 แท่น คิดเป็นมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการประมาณการนี้ทางกระทรวงพลังงานได้ให้บุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมประเมินมูลค่าที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามทางกลุ่มผู้ได้รับสัมปทานในปัจจุบัน มีความเห็นเบื้องต้นว่าแท่นขุดเจาะใดที่ไม่ต้องรื้อถอน ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่ารื้อถอน ในส่วนนี้เป็นการดำเนินการตาม 22 ของกฎกระทรวงพลังงาน เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องให้เกิดความชัดเจนภายใน 2 ปีก่อนจะหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียม
อนึ่ง กรณีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม เนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกกฏกระทรวง ให้บริษัทผู้รับสัมปทานต้องวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งหมด โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของแท่นผลิตหรือสิ่งติดตั้ง ที่รัฐไม่ได้รับโอน และส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรายละเอียดข้อกำหนดที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2515 ขณะที่เอกชนผู้รับสัมปทาน มองว่าการออกกฏกระทรวงดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรม และได้ทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด