“ถาวร” นัดบอร์ด-ผู้บริหาร THAI ถกแผนธุรกิจ-แผนฟื้นฟู 10 ต.ค.นี้ ลุ้นชัดเจนภายใน 3 เดือน
“ถาวร” นัดบอร์ด-ผู้บริหาร THAI ถกแผนธุรกิจ-แผนฟื้นฟู 10 ต.ค.นี้ ลุ้นชัดเจนภายใน 3 เดือน
นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงแผนการจัดหาเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI หลังคณะกรรมการบริษัท มีมติให้ทบทวนแผนใหม่ว่า ในวันที่ 10 ต.ค. เวลา 10.00 น. ได้นัดประชุมร่วมกับนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ในฐานะประธานคณะกรรมการ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) รวมถึงยังจะมีรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ , สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน,ฝ่ายช่าง ,สายปฏิบัติการ,ฝ่ายครัวการบิน เป็นต้น เข้าร่วมเพื่อหารือแบบใกล้ชิดในการจัดทำแผนฟื้นฟูใหม่และแผนธุรกิจใหม่ คาดว่าประมาณ 3 เดือนแผนน่าจะชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ได้ขัดขวางการจัดหาเครื่องบินของการบินไทย แต่ต้องการความชัดเจนว่าจะนำเครื่องบินไปใช้ในเส้นทางไหน อย่างไร จัดหาแหล่งเงินทุนจากไหน จะมีการเพิ่มทุนหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำแผนมาศึกษา พบว่า เป็นการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ โดยแบ่งเป็นล็อตแรก จำนวน 25 ลำ เครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ และ เครื่องบินลำตัวกว้างพิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-374 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ แต่จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องบินที่มีสภาพเก่าเป็นแบบลำตัวกว้าง พิสัยไกล ใช้ระยะเวลาการบิน 10-12 ชม.ซึ่งไม่ตรงกันกับที่จะจัดหาใหม่ โดยการบินไทยชี้แจงว่า เป็นเพราะแนวโน้มของการท่องเที่ยวผู้โดยสาร นิยมเดินทางระยะสั้น ๆ 5-6 ชม. จึงใช้เครื่องแบบลำตัวแคบ ขนาด 200 กว่าที่นั่ง โดยจะนำเครื่องบินแบบลำตัวแคบ 22 ลำ ใช้รองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่ 15 เมือง
“ซึ่งตรงจุดนี้ ผมเห็นว่า เส้นทางระยะสั้น มีสายการบินต้นทุนต่ำบินอยู่มาก การบินไทยจะแข่งขันไหวหรือไม่ โดยที่การบินไทย ชี้แจงว่า ตลาดการบินไทย เป็นพรีเมี่ยม”
นอกจากนี้ ผู้บริหารยังไม่สามารถชี้แจงได้ถึงการให้บริการเส้นทางการบินยุโรป เช่น โรม มิวนิค แฟรงเฟิร์ต ลอนดอน ที่ต้องใช้เครื่องบินลำตัวกว้างว่า จะใช้เครื่องบินอย่างไร ซึ่งยังคงต้องใช้เครื่องบินเก่า ที่ต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงสูง กลายเป็นต้นทุนเพิ่มอีก ขณะที่เครื่องบินเก่าไม่มีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่สนองความต้องการคนยุคใหม่ ไม่มีระบบไวไฟ เป็นต้น อาจจะทำให้ความพึงพอใจ ความประทับใจในบริการลดลง จะแข่งขันกับสายการบินอื่นไม่ได้
“สิ่งสำคัญของการบินไทยคือ มีผลประกอบการเมื่อปีก่อนขาดทุนมาก มีหนี้สิน 1.4 แสนล้านบาท จะทำอย่างไร ต้องเขียนแผนธุรกิจอย่างไรให้ลดการขาดทุน เพิ่มยอดขายและรายได้และสร้างกำไร ต้องมีการปรับเส้นทางการบิน ให้เหมาะสม ใช้ระบบไอทีเข้ามาบริหารมากขึ้น ปรับรูปแบบการจองตั๋วทางออนไลน์ ปรับแผนการตลาดเพราะคาดว่าสิ้นปี 2562 ยังมีความกังวลว่า อาจจะยังขาดทุนถึง 1 หมื่นล้านบาทหรือไม่ เพราะผลประกอบการไตรมาส 2 ขาดทุนไปแล้ว 6 พันล้านบาท” นายถาวร กล่าว
สำหรับแนวคิดในการเช่าเครื่องบินนั้น นายถาวรกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 15 คนและผู้บริหารที่ต้องคิดและรับผิดชอบ ส่วนรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับ และให้ข้อสังเกตได้
“เพราะหากผมเป็นดีดีเอง ผมจะทำและรับผิดชอบเอง ไม่ให้ขาดทุนอย่างไร ซึ่งทุกองค์กร แต่ละธุรกิจมีความแตกต่างกัน ต้องปรับตัวเองส่วนจะปรับลดคน เพิ่มคน อยู่ที่โครงสร้าง วัฒนธรรมองค์กรนั้น ๆ…ในฐานะที่เป็นผู้บริหารค่าจ้างเดือนละเป็นล้านต้องไปคิด ล่าสุด บอร์ดการบินไทย ได้ประเมินผลงานให้ ดีดี ผ่านไปแล้ว ตอนนี้ ก็คงไม่สามารถปลดหรือย้ายอะไรได้ ดังนั้น ต้องจับมือลงเรือลำเดียวกัน ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาสายการบินแห่งชาติให้สามารถแข่งขันได้”