บอร์ด THAI ขีดเดดไลน์ทบทวนแผนซื้อเครื่องบินใน 6 เดือน-เร่งปั๊มยอดขายช่วงไฮซีซันฟื้นธุรกิจ
บอร์ด THAI สั่งทบทวนแผนหาเครื่องบินจบใน 6 เดือน ฟาก “ถาวร” จี้ส่งรายงานแผนทุกเดือน!
นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังการหารือกับคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ฝ่ายบริหารทบทวนแผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ โดยให้เวลา 6 เดือนในการพิจารณา เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ในสภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ นายถาวร ระบุว่า ได้สั่งการให้บริษัทรายงานความคืบหน้าให้รับทราบทุกเดือน จนกว่าการทบทวนแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จ รวมทั้งให้บริษัทจัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ THAI กล่าวว่า บริษัทจำเป็นต้องพิจารณาแผนการจัดหาเครื่องบินให้รอบคอบ และจะต้องให้ทันสถานการณ์ธุรกิจการบินที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงจากจำนวน 38 ลำ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การบินและสถานะการเงินของบริษัท
นายเอกนิติ กล่าวว่า คณะกรรมการต้องการให้บริษัทมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ หากไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อบริษัทในระยะยาว เพราะเครื่องบินเป็นเครื่องมือหลักในการหารายได้ ขณะที่ THAI มีเป้าหมายเป็น National Premium Airline ซึ่งคณะกรรมการจะช่วยกลั่นกรองแผนงานดังกล่าวก่อนเสนอไปยังรัฐมนตรี โดยจะพิจารณาอย่างละเอียด
“สมมติฐานการท่องเที่ยว เส้นทางการบินที่เปลี่ยนไป และเมื่อปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยก็ชะลอตัว จากสงครามการค้า ตอนที่ทำสมมติฐานยังไม่มี Trade War ถ้าเรายังดึงดันใช้สมมติฐานเดิมก็อาจจะเกิดข้อผิดพลาด”นายเอกนิติ กล่าว
ขณะที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า การจัดหาเครื่องบินจะต้องวิเคราะห์ตลาดและพิจารณาเงินทุนอย่างละเอียด โดยจะศึกษาการปรับโครงสร้างทางการเงิน จากปัจจุบันบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เกิน 8 เท่า จะต้องปรับลดหนี้และลดสินทรัพย์ (Asset) รวมถึงพิจารณาถึงการเพิ่มทุน ซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่มาก ทั้งหมดจะอยู่ในแผนฟื้นฟูองค์กร
และสืบเนื่องจากการแข่งขันธุรกิจการบินที่รุนแรง ทำให้บริษัทประสบผลขาดทุน ดังนั้น ทางฝ่ายจัดการจึงได้เร่งทำแผนระยะสั้นไม่ถึง 3 เดือนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้ได้มากที่สุด ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำได้ตามแผน ด้วยการเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเน้นการขายตั๋วให้ได้มากที่สุดในข่วง High Season นี้ รวมถึงการเพิ่มช่องทางจำหน่ายตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet Sale) มากขึ้น จากเดิมพึ่งพิงช่องทางเอเย่นต์เป็นหลัก โดยบริษัทจะไม่ลดความสำคัญเอเย่นต์ลง เพื่อไม่ให้การขายเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง
ประกอบการการเปิดบริการช็อปปิ้งออนไลน์ (e-Commerce) ที่จะเปิดตัวปลายเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ 20-30 ล้านบาท/เดือน
รวมทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายที่จะมีการยกเลิกค่าใช้จ่ายบางตัวหรือเลื่อนออกไป รวมทั้งจะหารือกับพนักงานในการลดวันหยุด 1 วันเพื่อลดรายจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) ขณะที่ฝ่ายบริหารก็ได้ลดค่าตอบแทนบางส่วนลง ซึ่งการสื่อสารกับพนักงานเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อกู้วิกฤต รวมทั้งสื่อสารกับคนภายนอกให้เกิดความมั่นใจในความเป็นสายการบินแห่งชาติและสถานะการเงินของบริษัท
สำหรับแผนธุรกิจระยะยาว บริษัทจะเพิ่มเครื่องมือทางการตลาดมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจสนับสนุน อาทิ ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุง คาร์โกและ E-commerce ในปีหน้าเพื่อช่วยสร้างรายได้มากขึ้นพร้อมกันนั้น บริษัทจะวิเคราะห์การตลาดและเส้นทางการบินที่จะทำแผนให้เสร็จภายใน 6 เดือนหรือเร็วกว่านั้น โดยการทบทวนการจัดหาเครื่องบินที่พิจารณาเส้นทางการบิน โดยเฉพาะเส้นทางการบินที่ขาดทุนว่าควรจะการจัดการให้เหมาะสมอย่างไร นอกจากนี้จะลดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างลงอย่างน้อย 10% แต่จะไม่ให้กระทบการให้บริการกับลูกค้า
“เราทบทวนการจัดหาเครื่องบิน ดูสถานการณ์ตลาด คิดว่าไม่ช้า วิเคราะห์ให้จบ ดูรายได้ ต้นทุน แล้วค่อยไปดู Budget ต้องใช้เท่าไร “นายสุเมธ กล่าว
ส่วนธุรกิจของสายการบินไทยสมายล์ คาดว่าในปีหน้าจะไม่เกิดผลขาดทุนแล้ว หลังจากที่มีอัตราการใช้งานเครื่องบินเฉลี่ยได้ 10 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้ ในปีนี้ THAI มีแผนก่อหนี้ 3.2 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงปีก่อน โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ