GULF วอลุ่มทะลัก-ทุบนิวไฮต่อเนื่อง! โบรกฯชี้ภาระหนี้ต่ำอานิสงส์บาทแข็ง เคาะเป้า 168 บ.
GULF วอลุ่มทะลัก-ทุบนิวไฮต่อเนื่อง! โบรกฯชี้ภาระหนี้ต่ำอานิสงส์บาทแข็ง เคาะเป้า 168 บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ณ เวลา 11.46 น. อยู่ที่ระดับ 166.00 บาท บวก 6.50 บาท หรือ 4.08% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.92 พันล้านบาท ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าตลาด 6 ธ.ค.2560
โดยก่อนหน้า นายสารัชถ์ รัตนาวดี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF เปิดเผยว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) เป็นความร่วมมือของ GULF และ PTT ผลักดันไทยเป็นศูนย์ปิโตรเคมีและแอลเอ็นจี โดยโครงการนี้จะมีการสร้างคลังแอลเอ็นจีขนาด 5 ล้านตัน และหากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นก็มีโอกาสขยายเพิ่มเป็น 10.8 ล้านตัน
สำหรับเงินลงทุนแบ่งเป็นเงินลงทุนสำหรับถมทะเลประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท และอีก 3.5 หมื่นล้านบาทจะใช้สำหรับลงทุนคลังแอลเอ็นจี โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากการกู้สถาบันการเงิน 70% และเงินทุนหมุนเวียน 30%
ส่วนกรณีศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น ไม่ได้รู้สึกกังวลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นกระบวนการเปิดประมูล แม้ว่าจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแต่ก็นับว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบริษัทยื่นเอกสารไปแล้ว
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการประมูลติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมทางหลวง คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในปีนี้
สำหรับแผนธุรกิจ GULF ในปี 2562 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ แต่หากคิดตามสัดส่วนถือหุ้นจะอยู่ที่ 6,500 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วตามกำลังการผลิตติดตั้ง 5,900 เมกะวัตต์ หากคิดตามสัดส่วนถือหุ้นจะอยู่ที่ 2,673 เมกะวัตต์
โดยในปี 2563 จะมีโรงไฟฟ้าที่ทยอยเข้าระบบทั้งในและต่างประเทศรวม 140 เมกะวัตต์ และปี 2564-2567 จะมีโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพี ขนาด 5,000 เมกะวัตต์ ทยอยเข้าระบบปีละ 1,250 เมกะวัตต์ (ไม่รวมโครงการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต)
“บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าไอพีพีในประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ GSRC ตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กำลังการผลิตรวม 2,500 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าแล้ว 30% ส่วนอีก 1 แห่ง เป็นโครงการ GPD ที่ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากู้เงิน 4 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ในเดือน พ.ย.นี้” นายสารัชถ์ กล่าว
ด้านความคืบหน้าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่โอมาน ขนาด 326 เมกะวัตต์ จะทยอย COD ในปี 2563 ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 500-1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีหน้า ขณะที่โครงการแอลเอ็นจีในโอมานยังต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา
นอกจากนี้โครงการโรงไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป.ลาว จะร่วมกับพันธมิตรจีน จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2,500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่เวียดนาม จำนวน 340 เมกะวัตต์ จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2563-2564
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย PTT เปิดเผยว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มีการลงทุนสร้างคลังเพื่อรองรับแอลเอ็นจี จากปัจจุบัน ปตท.มีคลังรองรับแอลเอ็นจี 11.5 ล้านตัน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7.5 ล้านตัน รวมเป็น 19 ล้านตัน และโครงการดังกล่าวจะรองรับความต้องการใช้แอลเอ็นจีในอนาคต
บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า SET Index ยังสามารถรักษาการแกว่งตัวไว้ได้ในกรอบการแกว่งตัวที่ 1,605-1,695 จุด วันนี้ SET Index มีแนวรับแรกอยู่ที่ 1,613 จุด และแนวต้านแรกอยู่ที่ 1,621 จุด หุ้นแนะนำ: ADVANC, CHG, GULF, TOA, PSL
ADVANC มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ 241 บาท โดยมีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 214 บาท
CHG มีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 2.54 บาท และมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ 2.70 บาท โดยมีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 2.38 บาท
GULF มีเป้าหมายสำคัญของการทำ New High อยู่ที่ 168 บาท โดยมีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 156 บาท
TOA มีเป้าหมายแรกทดสอบ High เดิมที่ 42.75 บาท และมีเป้าหมายการทำ New High อยู่ที่ 46.25 บาท โดยมีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 39.50 บาท
PSL (จากกราฟ) มีเป้าหมายแรกอยู่ที่ 10.70 บาท และมีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่ 14.40 บาท โดยมีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 8.10 บาท
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ทิศทางดอกเบี้ยโลกที่ยังเป็นขาลงและล่าสุดแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี อยู่บริเวณ 30.3 บาท หากนับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าราว 7.1%ytd (เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน ytd อยู่ที่ 31.3 บาท/ดอลลาร์ VS.สมมติฐาน ASPS คาด 32 บาท/ดอลลาร์) หากเงินบาทยังแข็งค่าใกล้เคียงปัจจุบันที่ 30.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าสมมติฐาน และเป็นการแข็งคาดมากสุดเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆในภูมิภาค
โดยเงินบาท/ดอลลาร์ที่แข็งค่าหุ้นที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เนื่องจากหุ้นในกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่ จะมีภาระหนี้อยู่ในสกุลดอลลาร์ ซึ่งเงินบาท/ดอลลาร์ที่แข็งค่า ทำให้เงินต้นที่ต้องชำระดอกเบี้ยลดลง และมีโอกาสบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ในงบกำไรขาดทุน โดยชื่นชอบ PTTEP(FV@B166) จะได้รับประโยชน์จากค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีที่จะลดลง ซึ่งทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจะทำให้ PTTEP จ่ายค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีลดลงราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ