“บิ๊กตู่” แถลงร่าง พรบ.งบฯ63 เกือบ 2 ชม. ย้ำยึดผลประโยชน์ชาติ-ปชช. ขอ สส.ศึกษารอบคอบ

"บิ๊กตู่" แถลงร่าง พรบ.งบฯ63 เกือบ 2 ชม. ย้ำยึดผลประโยชน์ชาติ-ปชช. ขอ สส.ศึกษารอบคอบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้(17ต.ค.62) เมื่อเวลา 10.40 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 256 ในวาระแรก โดยมีนาชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุม

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้แถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีการตั้งงบประมาณเป็นจำนวนไม่เกิน 3,200,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,137,290,534,200 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 62,709,465,800 บาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงิน งบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่รัฐบาลนำเสนอวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบประมาณของแผ่นดินเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สามารถพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนโดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ฐานะและนโยบายการเงิน การคลังของประเทศว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.2 ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในปี 2561 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อการลดลงของการส่งออกและกระทบต่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ ภายในประเทศที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

“เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลก ที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ”

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในส่วนของฐานะและนโยบายการคลัง จากภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 2,862,000 ล้านบาท เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน131,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่าย ของรัฐบาล จำนวน 2,731,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณ มีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม เพียงพอ และไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะจึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,731,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 469,000 ล้านบาท สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,917,357.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60

โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกัน เงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 6,418,318.7  ล้านบาท ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป้าหมายของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้การพัฒนาประเทศ ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขัน ในเวทีโลกได้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่ากระทรวงและหน่วยรับงบประมาณต่างๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564 ) แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564 )และแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2558 – 2573) กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 นโยบายสำคัญของรัฐบาลยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่สำคัญ คือ 1.นำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ 2. ดำเนินภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลในปีแรก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต   3. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพ ทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นให้แก่ประชาชนด้านคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทาง การคลังระหว่างท้องถิ่น สอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน 5. ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราช บัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คณะรัฐมนตรี นำเสนอ มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,200,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก จำนวน 469,000 ล้านบาท โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,392,314.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74.8 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,805.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

โดยสาระสำคัญของงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่ายที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี คือ งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 518,770.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของวงเงินงบประมาณ  สำหรับงบประมาณอีกจำนวน 103,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของวงเงินงบประมาณ ได้สำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจาก   ภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ

งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,131,765.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายจัดตั้งและตามที่ได้รับมอบหมายในเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ,งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 235,091 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณ ,งบประมาณรายจ่ายบุคลากร รัฐบาลได้ จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 777,267.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐ ไม่รวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง จำนวน 415,770.9 ล้านบาท สำหรับงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 202,268.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 ของวงเงินงบประมาณ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 272,127.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 182,956.7ล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของวงเงินงบประมาณ

ในส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามยุทธศาสตร์จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 428,190.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 ของวงเงินงบประมาณ  ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 380,803.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.9 ของวงเงินงบประมาณ  ยุทธศาสตร์ที่ 3  ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 571,073.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 765,209.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 5  ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 118,700.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ และยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 504,686.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.8 ของวงเงินงบประมาณ

Back to top button