ครม.อนุมัติโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อน“สิรินธร”วงเงิน 2.27 พันลบ. เตรียมเปิดซองราคา 7 พ.ย.

ครม.อนุมัติโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อน“สิรินธร”วงเงิน 2.27 พันลบ. เตรียมเปิดซองราคา 7 พ.ย.


นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-Floating Solar Hybrid) วงเงินลงทุนรวม 2,265.99 ล้านบาท พร้อมอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนสำหรับปี 2562

สำหรับโครงการนี้จำนวน 643.09 ล้านบาท และให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเร่งรัด พิจารณาขั้นตอนการขออนุญาต ขออนุมัติและขอความเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าดำเนินการที่เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนสิรินธร ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 เมษายน 2562) เห็นชอบแล้ว ระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ตั้งอยู่ในพื้นที่เขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ติดตั้งทั้งหมด 450 ไร่ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 87.53 ล้านหน่วยต่อปี มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเดือนธันวาคม 2563 โดยจะบริหารจัดการร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 36 เมกะวัตต์ (MW) เป็นการผสมผสานระหว่างพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ วงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,265.99 ล้านบาท เป็นเงินตราต่างประเทศ 1,537.74 ล้านบาท และเงินบาท 728.25 ล้านบาท ซึ่งกฟผ.จะพิจารณาฐานะการเงิน สภาวะตลาดเงินตลาดทุน วิธีการกู้เงินและเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยจะพิจารณาแหล่งเงินทุนจากเงินรายได้กฟผ. และจากการออกพันธบัตรหรือการกู้เงินจากสถาบันการเงินตามความเหมาะสม

สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้คือ ผลิตไฟฟ้าได้อีกว่า 87 ล้านหน่วยต่อปี ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยลดการระเหยของน้ำจากเขื่อนสิรินธรได้ประมาณ 46,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังลดการใช้พื้นที่บนดินในการเอาแผงโซลาร์ไปวาง ซึ่งจะสามารถนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการปลูกมันสำปะหลัง

ด้าน แหล่งข่าวจากกฟผ. เปิดเผยว่า การที่ครม.อนุมัติงบประมาณการลงทุนในโครงการดังกล่าวในวันนี้ นับเป็นการดำเนินการคู่ขนานกันไประหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างผู้ดำเนินโครงการ ที่ปัจจุบันกฟผ.ได้พิจารณาเอกชนผู้ที่ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคแล้วมีทั้งสิ้น 21 ราย จากผู้ที่เข้ามายื่นประมูลทั้งสิ้น 22 ราย และเตรียมที่จะเปิดซองราคาประมูลในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นคณะกรรมการพิจารณาก็จะตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ และเรียกผู้เสนอราคาต่ำสุดมาเจรจารายละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะสรุปและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกฟผ. พิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูลต่อไป โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย. และคาดว่าสามารถลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะประมูลได้ภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จทันแก่การผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เกินเดือนธันวาคม 2563

“การที่ครม.อนุมัติงบประมาณในวันนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะเมื่อคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการได้แล้ว ก็จะสามารถลงนามในสัญญาได้เลย ซึ่งจะทำให้กระบวนการมีความรวดเร็ว”แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร นับเป็นโครงการนำร่องของ กฟผ. และเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประกวดราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการ ก็ได้รับความสนใจจากเอกชนทั้งในและต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่จะมาในลักษณะของ Consortium เนื่องจากลักษณะการดำเนินโครงการค่อนข้างยาก เพราะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงได้มากจากผลของคลื่นและแรงลม รวมถึงมีความลึก ทำให้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินการ

Back to top button