TPS จ่อตั้งอันเดอร์ไรท์-เคาะราคาไอพีโอ 4 พ.ย. พร้อมเทรด mai พ.ย.นี้
"เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น" หรือ TPS จ่อตั้งอันเดอร์ไรท์-เคาะราคาไอพีโอ 4 พ.ย.นี้ ลุยเทรด mai พ.ย.นี้ ระดมทุนใช้คืนหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน-เงินทุนหมุนเวียน
นายเมธี วิธวาศิริ กรรมการ บริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TPS เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมลงนามแต่งตั้งผู้จัดการการจัดจำหน่าย(อันเดอร์ไรท์) พร้อมประกาศราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นวันเดียวกับการนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) แก่นักลงทุนทั่วไป ในเขตกรุงเทพฯ และคาดว่าจะสามารถเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ภายในเดือนพ.ย.นี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จดทะเบียนแล้วทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้คืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จากการลงทุนก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ประมาณ 20-30 ล้านบาท, การจัดตั้ง Network Operation Center: NOC, การจัดตั้ง DEMO Data Center, Security and Collaboration และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
สำหรับความมั่นใจในการนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ ไม่ได้เป็นกังวลต่อภาวะตลาด แม้ในช่วงนี้ตลาดค่อนข้างผันผวน เนื่องจากมั่นใจในพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 378.42 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปีถัดไป ทำให้ผลการดำเนินงานมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีรายได้อยู่ที่ 322.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 207.57 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 22.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 3.67 ล้านบาท ขณะเดียวกันทั้งปีของปี 61 บริษัทฯ มีรายได้อยู่ที่ 539.77 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 42.01 ล้านบาท
อีกทั้งยังมีโอกาสของงานในปี 63 ที่คาดจะมีออกมามากขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐ ที่มีนโยบายส่งเสริมสังคมดิจิทัลและสร้างการเข้าถึงการสื่อสาร ทั้งแผนการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี (ประเทศไทย 4.0), แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) มุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นต้น รวมถึงการลงทุนด้าน IT ก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คาดในปี 65 จะมีงบลงทุนกว่า 5.4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนงานภาครัฐอยู่ราว 30% และภาคเอกชน 70% โดยคาดหวังว่าเมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะช่วยให้บริษัทฯ มีความสามารถในการเข้าไปรับงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่สามารถรับงานได้ประมาณ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะงานภาครัฐที่คาดจะมีสัดส่วนรายได้ขยับเพิ่มเป็น 50% ได้ในอนาคต
สำหรับ TPS ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แบ่งการให้บริการของบริษัทฯ เป็น 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ปัจจุบันบริษัทได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจในระดับ Gold Certified Partner จาก บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ อิงค์ (CISCO) ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีชื่อเสียงจากประเทศสหรัฐอเมริกาและได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก
ขณะที่จุดเด่น คือ การเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ CISCO ระดับ Gold Certified Partner ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียง 11 รายเท่านั้น และบริษัทฯ ยังเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลกรายอื่น ๆ อีก ได้แก่ NetApp, Palo Alto Networks, Symantec, VMware และ FORTINET พร้อมกับมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การทำงานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าจนเป็นที่พึงพอใจ
โดยมีกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมันและโรงกลั่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โรงพยาบาล สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และโลจิสติกส์ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทมีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการให้คลอบคลุมงานได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น