บาทแข็งในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่! แตะ 30.17 บ./ดอลล์ หลังเฟดหั่นดอกเบี้ย 0.25%
บาทแข็งในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่! แตะ 30.17 บ./ดอลล์ หลังเฟดหั่นดอกเบี้ย 0.25%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคเช้าวันนี้(31ต.ค.62) เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ หลังเฟดลดดอกเบี้ยลง 0.25% โดย ณ เวลา 11.36 น.เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.1750 บาท/ดอลลาร์ เทียบจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค.56 อยู่ที่ 30.1130 บาท/ดอลลาร์
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า มีความเห็นต่อผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่กรอบ 1.50-1.75% ตามความคาดหมายของตลาด และเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยและซื้อขายที่ระดับ 30.19 บาท/ดอลลาร์ในช่วงเปิดตลาดเช้านี้ และมีโอกาสที่จะทดสอบระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่
ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดในแดนบวก โดยดัชนี S&P 500 ปิดตลาดที่สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ย่อตัวลง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ ประเมินว่า เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายช่วงสั้นจากท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ของเฟด และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังคงผันผวน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมวันที่ 29-30 ตุลาคม เฟดระบุว่าการจ้างงานและการบริโภคอยู่ในภาวะแข็งแกร่งขณะที่การลงทุนและภาคส่งออกอ่อนแอและเงินเฟ้อต่ำ มติการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยเสียง 8-2 โดยผู้คัดค้านสองรายต้องการให้เฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม
ประเด็นสำคัญในรอบนี้ คือ เฟดตัดทิ้งประโยคในแถลงการณ์ครั้งก่อนที่ระบุว่าจะดำเนินนโยบายที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตต่อไป แต่กล่าวย้ำว่าจะเฝ้าติดตามข้อมูลต่างๆ ที่จะเข้ามา โดยสัญญาณดังกล่าวบ่งชี้ถึงการหยุดลดดอกเบี้ยชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนนายพาวเวลล์ ประธานเฟดแม้แสดงความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและกล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงบางประการ อาทิ สงครามการค้า และ Brexit แบบไร้ข้อตกลง ได้ลดลงไปบ้างแล้ว แต่ยังเปิดทางเลือกสำหรับการลดดอกเบี้ยในอนาคตหากจำเป็น
“เราคาดว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 10-11 ธันวาคม และอาจลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในปี 2563 หากโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯแผ่วลงอย่างชัดเจนมากขึ้น สำหรับปัจจัยชี้นำถัดไปจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ช่วงสายของวันนี้ และข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯในวันที่ 1 พฤศจิกายน รวมถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในสัปดาห์หน้า” เอกสายเผยแพร่ ระบุ