TK เล็งเปิดบริการไมโครไฟแนนซ์เมียนมาอีก 2 สาขาภายในปี 63 มั่นใจดันสัดส่วนรายได้ตปท.เพิ่ม
TK เล็งเปิดบริการไมโครไฟแนนซ์เมียนมาอีก 2 สาขาภายในปี 63 มั่นใจดันสัดส่วนรายได้ตปท.เพิ่ม
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า บริษัทย่อย บริษัท มิงกะละบา ฐิติกร ไมโครไฟแนนซ์ จำกัด (Mingalaba Thitikorn Microfinance Company Limited) ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการไมโครไฟแนนซ์กับลูกค้าชาวเมียนมา จำนวน 3 สาขา ในมณฑลพะโค (Bago Region) ในไตรมาส 2/62
โดยได้เริ่มเปิดให้บริการไมโครไฟแนนซ์ให้กับลูกค้าดังกล่าวไปแล้วในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ที่สาขาแรกเมืองมอนโย (Monyo) และได้ปล่อยเงินกู้แก่ลูกค้ารายละไม่เกิน 300,000 จ๊าด หรือประมาณ 6,000 บาท ผ่อนชำระเป็นรายเดือน ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน ในอัตราดอกเบี้ย 28% ต่อปี (Effective rate) ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และค้าขาย ส่วนอีก 2 สาขาก็คาดว่าจะเปิดให้บริการดังกล่าวที่เมืองปาเดา (Padaung) และเมืองเตกอง (Thegon) ภายในปี 63
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์ 2 รูปแบบ คือ เงินกู้แบบกลุ่มหรือ Group Loan และเงินกู้แบบรายบุคคลหรือ Individual Loan สำหรับเงินกู้แบบกลุ่มนั้น บริษัทฯ จะเน้นให้เงินกู้กับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยสมาชิกในกลุ่มจะมีการค้ำประกันซึ่งกันและกัน ส่วนเงินกู้เป็นรายบุคคล บริษัทฯ จะให้เงินกู้กับสมาชิกเดิมที่เคยกู้แบบกลุ่มมาก่อน และมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ
ด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า ถึงแม้ว่าธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมาจะมีการเติบโตในยอดกู้เฉลี่ยเกือบ 50% ต่อปี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนของยอดกู้ต่อ GDP ของประเทศแล้ว (Microfinance loan to GDP) ถือว่ามีอัตราส่วนที่น้อยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มองว่าธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในประเทศเมียนมา ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต
ประเทศเมียนมามีประชากรประมาณ 53 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นประชากรในวัยทำงาน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 6.8% ต่อปี แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของภาครัฐ (Formal Credit Institutions) ได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในการกู้ยืมที่เข้มงวดมาก
โดยเฉพาะธนาคารและสถาบันการเงินเอกชน ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปใช้บริการของพ่อค้าเงินกู้ในพื้นที่(Informal Money Lenders) ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้นธุรกิจไมโครไฟแนนซ์จึงเข้ามาเป็นทางเลือกด้านบริการทางการเงินให้แก่ผู้บริโภคที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก โดยกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลจากเมือง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังมีความต้องการแหล่งเงินทุนอีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ ควบคู่กับการเตรียมพร้อมที่จะขยายตัวในประเทศ เมื่อตลาดอำนวยในทันที ซึ่งปัจจุบัน TK มีสาขาในต่างประเทศ ทั้งในกัมพูชา, สปป. ลาว และเมียนมา รวมจำนวน 10 สาขา แบ่งเป็น กัมพูชา จำนวน 6 สาขา และอีก 6 สาขา คาดว่าธนาคารแห่งชาติกัมพูชาจะอนุมัติให้เปิดได้เร็ว ๆ นี้ ใน สปป.ลาว จำนวน 3 สาขา และในเมียนมา จำนวน 1 สาขา บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของ TK จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% ภายในสิ้นปี 62