“คมนาคม” เร่งหารือ “รฟม.-บีทีเอส-แอร์พอร์ตลิ้ง” เดินแผนใช้ตั๋วร่วมข้ามระบบ
"คมนาคม" เร่งหารือ "รฟม.-บีทีเอส-แอร์พอร์ตลิ้ง" เดินแผนใช้ตั๋วร่วมข้ามระบบ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า จากการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วม และบัตรแมงมุมเพื่อให้ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ซึ่งพบว่า ยังมีความล่าช้าเนื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกประมาณ 18 เดือน ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีแนวคิดในการเร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วมให้ได้ก่อน
โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งหารือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ใน 2 ประเด็นคือ 1. การปรับปรุงระบบหัวอ่าน (Reader) และระบบที่เกี่ยวข้องของแต่ละผู้ให้บริการเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานของบัตรข้ามระบบได้ ว่าจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน 2. ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเท่าไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้เวลา 2 สัปดาห์ สรุปรายละเอียด เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณาตัดสินใจ
ทั้งนี้หากการปรับปรุงใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และเปรียบเทียบกับค่าลงทุนแล้วคุ้มค่า จะเร่งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นผู้บริหารรถไฟฟ้า บีทีเอส ซึ่งมีผู้ถือบัตรรถไฟฟ้ามากที่สุด รับทราบหลักการแนวทางการใช้บัตรข้ามระบบ โดยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน
“แนวคิดนี้ คือจะให้ผู้ถือบัตรรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วสามารถใช้รถไฟฟ้าได้ทุกสาย เช่น บัตรแรบบิท ใช้ขึ้น MRT หรือ แอร์พอร์ตลิงก์ ได้ ส่วน บัตร MRT Plus ของรฟม.ใช้เงิน บีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ได้ เป็นต้น ไม่ต้องแยกซื้อบัตรแต่ละสาย เพราะเห็นว่า จะใช้เวลาปรับปรุงระบบเร็วกว่า”
โดยปัจจุบัน บัตรรถไฟฟ้ามีทั้งสิ้น 4 ราย ผู้ถือบัตรแรบบิท (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ประมาณ 12 ล้านใบ ถือบัตร MRT plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง) จำนวน 2 ล้านใบ ถือบัตรแมงมุมจำนวน 2 แสนใบ และบัตรรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ อีกจำนวนหนึ่ง เป้าหมายให้ทุกบัตรที่มีอยู่นี้ สามารถใช้ข้ามระบบได้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น
ส่วนระบบตั๋วร่วมแมงมุมที่ รฟม.อยู่ระหว่างร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการพัฒนาใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) นั้นรฟม.จะต้องเร่งเสนอบอร์ด ซึ่งระบบตั๋วร่วมแมงมุม เป็น National Common Ticketing System หรือระบบกลาง ที่บัตรใบเดียวขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสาย เช่นกัน โดยใช้ผ่านบัตรเครดิต เดบิต ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่าปัจจุบันมีคนไทย ถือบัตรเครดิต เดบิต รวม 90 ล้านใบ และถือบัตรในระบบพร้อมเพย์ e-Money ประมาณ 80 ล้านใบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อรฟม.พัฒนาระบบตั๋วร่วมแมงมุม EMV เสร็จ จะเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชน ส่วนบัตรรถไฟฟ้าเดิม ทั้ง แรบบิท, MRT plus ซึ่งเป็นบัตรแบบเติมเงิน ยังใช้งานได้เหมือนเดิมอยู่ที่ความสะดวก ซึ่งข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการพัฒนาระบบบัตร EMV จะมีสัดส่วนประมาณ 70% ส่วนบัตรรถไฟฟ้าแบบเดิม ประมาณ 30%